วัดราชประดิษฐาน
เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นเช่นกัน ตั้งอยู่ริมปากคลองประตูข้าวเปลือกฝั่งตะวันตก ภายในกำแพงพระนคร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในรัชสมัยใด แม้ว่าในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจะกล่าวถึงวัดนี้หลายครั้งก็ตาม แต่หากดูความหมายจากชื่อวัดซึ่งหมายถึงวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า ผู้สร้างวัดนี้คงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง และคงมีความสำคัญอยู่มาก
สิ่งก่อสร้างเก่าแก่สมัยอยุธยา ที่ยังเหลือให้ชมคือ ใบเสมาที่ปักรอบทั้งแปดทิศแสดงเขตพระอุโบสถ เป็นใบเสมาสมัยอโยธยาซึ่งมีลักษณะเป็นใบเสมาคู่สลักจากหินทรายแดง
ทางด้านทิศตะวันออกของวัดราชประดิษฐาน เป็นที่ตั้งวัดท่าทรายซึ่งปัจจุบันถูกรวมอยู่กับวัดราชประดิษฐาน ยังคงมีสิ่งก่อสร้างสมัยอยุธยาเหลือให้ชม คือ เจดีย์ทรงปรางค์ เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมขนาดย่อม ส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้าย อุโบสถ อยู่ในสภาพทิ้งร้างทรุดโทรมเพราะไม่ได้ใช้งาน มีพาไลทั้งด้านหน้าด้านหลัง ใบเสมาตั้งอยู่บนฐานซึ่งทำเป็นบัวกลุ่ม ลักษณะเป็นใบเสมาสมัยอยุธยาตอนปลาย กล่าวคือ มีขนาดเล็ก เอวคอด สลักลายตรงกลางเป็นรูปทับทรวง หอระฆัง ผนังแต่ละด้านเจาะเป็นช่องหน้าต่างรูปโค้งแหลมแบบยุโรป ลักษณะทางสถาปัตยกรรมบ่งว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ลงมา
สำหรับวัดท่าทรายนี้เป็นวัดที่อยู่ของพระมหานาค ผู้แต่ง บุรโณวาทคำฉันท์ กล่าวด้วยเรื่องสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท วัดนี้ไม่มีเรื่องราวปรากฏในพงศาวดารมากนัก มีกล่าวชื่ออยู่ครั้งหนึ่งในสมัยแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-2199) ว่าให้ปลูกเรือนเสาไม้ไผ่ที่ริมวัดท่าทรายให้พระอาทิตยวงศ์ (โอรสสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) อยู่
วัดราชประดิษฐาน
 |
ถ. อู่ทอง ต.ท่าวาสุกรี
|