วัดญาณเสน
เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เดิมชื่อวัดยานุเสน ตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะเมืองใกล้กับช่องมหาเถรไม้แช บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่ของชนชาวมอญมาก่อน วัดญาณเสนไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ในตำนานกล่าวเพียงว่า ในสมัยอยุธยามีตึกพระคลังสำหรับใส่เชือกและบาศคล้องช้างอยู่ริมวัดแห่งนี้ และมีรางน้ำอยู่ถัดหน้าวัดญาณเสน ทะลุเข้าไปจากรากกำแพงด้านเหนือ ชาวบ้านเรียกว่าคลองน้ำเชี่ยว เป็นทางสำหรับชักน้ำจากแม่น้ำลพบุรีเข้าไปยังบึงพระราม เป็นวิธีถ่ายเทน้ำไปในบึงพระรามให้สะอาด ซึ่งมีมาแต่ครั้งโบราณ
โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดญาณเสน คือ เจดีย์และอุโบสถ โดยเฉพาะเจดีย์ เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่ด้านทั้งสี่มีเก็จหรือซุ่มเจดีย์เล็กๆรับมุขทิศทั้งสี่ ฐานเจดีย์เป็นฐานประทักษิณ เช่นเดียวกับเจดีย์ศรีสุริโยทัย กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะตั้งแต่ปีพ.ศ. 2487 ในการขุดแต่งครั้งนั้นได้พบโบราณวัตถุหลายชิ้น ที่สำคัญ คือ แผ่นทองคำรูปสัตว์ต่างๆ เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา รวมทั้งพระพุทธรูปสำริด ทั้งสมัยลพบุรีและสมัยอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ส่วนอุโบสถเป็นอาคารสร้างขึ้นใหม่บนฐานรากเดิม จึงยังเห็นฐานโค้งแบบท้องสำเภาอันเป็นรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยา รวมทั้งผนังทำเป็นลูกกรงช่องแสงแทนช่องหน้าต่าง
วัดญาณเสน
 |
ถ. อู่ทอง ต.ท่าวาสุกรี ใกล้วัดราชประดิษฐาน
|