You are here

หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ที่ภูเวียง

Share:  

หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ที่ภูเวียง

ใครที่มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง คงได้รับความตื่นตาตื่นใจและความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์อย่างจุใจ แต่หากจะให้ดีกว่านั้นลองขับรถต่อไปอีกไม่ไกลก็จะถึงอุทยานแห่งชาติภูเวียง เพราะที่นี่มีหลุมขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์ถึง 9 หลุม และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม 4 หลุม เรียกว่าเป็นการมาดูสถานที่จริง ทั้งยังได้ออกกำลังกายด้วยการเดินตามเส้นทางชมหลุมขุดค้นอีกด้วย
หลุมขุดค้นที่ 1 ภูประตูตีหมา
ถือว่าเป็นหลุมขุดที่มีความสำคัญมาก โดยพบตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา คณะสำรวจได้ขุดพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ในบริเวณนี้มากกว่า 20 ชิ้น ได้แก่ กระดูกต้นขาหลังขวา กระดูกซี่โครง กระดูกคอ กระดูกหาง กระดูกสันหลัง กระดูกต้นขาหลังซ้าย ฯลฯ จากการศึกษาพบว่าเป็นไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลก เนื่องจากพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ได้รับการตั้งชื่อว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน เพื่อเทิดพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนั้น ยังพบฟัน 7 ซี่ ลักษณะเป็นกรวยปลายแหลม มีสันและร่องตามยาวรอบฟัน ผลการวิจัยพบว่าเป็นของไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลกอีกเช่นกัน ได้รับการตั้งชื่อว่า สยามโมซอรัส สุธีธรนิ และพบกระดูกหลายชิ้นของ คอมพ์ซอกนาธัส ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อตัวจิ๋วที่มีขนาดเล็กเท่าไก่อีกด้วย
ปัจจุบันมีการสร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้น ภายในตัวหลุมจัดแสดงฟอสซิลกระดูกจำลองจากของจริงที่ขุดพบในบริเวณนี้ และมีข้อมูลแสดงรายละเอียดประกอบการชม
หลุมขุดค้นที่ 2 ถ้ำเจีย
พบเมื่อเดือนกันยายน 2530 เป็นฟอสซิลกระดูกคอของไดโนเสาร์ ซอโรพอด จำนวน 6 ชิ้นวางเรียงต่อกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2532 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เสด็จมาเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2533 บริเวณหลุมมีการสร้างอาคารคลุมลักษณะหลังคาโค้งซ้อนเป็นลำดับขึ้นไปตามเนินเขา
หลุมขุดค้นที่ 3 ห้วยประตูตีหมา
ขุดพบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 เป็นกระดูกไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่หลายชิ้นฝังตัวอยู่ในหินทราย บริเวณหลุมมีการสร้างอาคารคลุม ติดตั้งป้ายแผงผังฟอสซิลและคำอธิบายประกอบการชม
หลุมขุดค้นที่ 9 หินลาดยาว
ฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ที่หลุมนี้ถูกขุดพบเมื่อเดือนสิงหาคม 2536 คือชิ้นส่วนกระดูกสะโพกและโคนหางของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ คาดว่าลำตัวยาวประมาณ 7 ม. จากการศึกษาพบว่าเป็นไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลก ได้รับการตั้งชื่อว่า สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส และคาดว่าเป็นบรรพบุรุษของ ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ ที่มีขนาดใหญ่กว่า
หลุมขุดค้นทั้ง 4 หลุมมีทางเดินเชื่อมต่อกัน สามารถจอดรถที่ลานจอดบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เพื่อไปชมหลุมที่ 3 เป็นจุดแรก จากนั้นเดินขึ้นเขาไม่ชันนักไปชมหลุมที่ 1 หลุมที่ 2 และหลุมที่ 9 ตามลำดับ แล้วค่อยเดินกลับที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางรวมประมาณ 6 กม.
หากต้องการย่นระยะทางเดินเท้า สามารถนำรถไปจอดที่ลานจอดสองแห่ง ใกล้กับหลุมที่ 2 และหลุมที่ 9 แต่ถนนเป็นทางดินลูกรัง โดยเฉพาะลานจอดรถบริเวณหลุมที่ 2 เป็นเส้นทางชันขึ้นเขา รถยนต์ทั่วไปอาจวิ่งลำบาก

หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ที่ภูเวียง