You are here

เมืองไทยก็มีไดโนเสาร์

Share:  

เมืองไทยก็มีไดโนเสาร์

ในอดีตนับร้อยล้านปีมาแล้วเคยมีไดโนเสาร์หลายชนิดอยู่อาศัยและหากินบนผืนแผ่นดินที่เป็นประเทศไทย เมื่อพวกมันล้มตายลงร่างจึงถูกกลบฝังและค่อยๆ กลายสภาพเป็นฟอสซิลอยู่ใต้ชั้นดิน
ปัจจุบันนักบรรพชีวินวิทยาขุดพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ในเมืองไทยกว่า 16 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก 9 ชนิด ได้แก่
อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ คอยาว หางยาว ที่เรียกว่า ซอโรพอด มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย ประมาณ 210 ล้านปีมาแล้ว ฟอสซิลของมันถูกขุดพบที่ จ.ชัยภูมิ ผลการศึกษาพบว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดในยุคครีเทเชียสตอนต้น ราว 130 ล้านปีมาแล้ว ฟอสซิลของมันถูกขุดพบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น เมื่อปี 2525 หลังจากนั้นยังพบที่ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ และ จ.กาฬสินธุ์
สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ เดินด้วยสองขาหลัง ที่เรียกว่าไดโนเสาร์เทอโรพอด มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น ราว 130 ล้านปีก่อน ฟอสซิลของมันถูกขุดพบที่ จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา
สยามโมซอรัส สุธีธรนิ เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดในยุคครีเทเชียสตอนต้น มันมีปากแคบยาว ฟันคล้ายฟันจระเข้ กินปลาเป็นอาหาร ฟอสซิลถูกขุดพบที่ จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ชัยภูมิ จ.อุบลราชธานี จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา
ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น ฟอสซิลถูกขุดพบที่ จ.ชัยภูมิ
กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส ไดโนเสาร์เทอโรพอด ยุคครีเทเชียสตอนต้น รูปร่างคล้ายนกกระจอกเทศ ว่องไว ปราดเปรียว ขนาดยาว 1-2 เมตร เดินและวิ่งด้วย 2 ขาหลัง คอยาวเรียว ปากเป็นจงอย ไม่มีฟัน กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร พบฟอสซิลที่ภูเวียง ขอนแก่น
สยามโมดอน นิ่มงามมิ เป็นไดโนเสาร์ ออร์นิโธพอด มีลักษณะของกระดูกขากรรไกรบนเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วแตกต่างจากไดโนเสาร์พวกอิกัวโนดอน ตรงที่มีลักษณะของ “ฟัน” ของขากรรไกรบน ที่ไม่เหมือนกัน สยามโมดอน นิ่มงามมิ มีลักษณะของกระดูกขากรรไกรบนคล้ายคลึงกับไดโนเสาร์ โปรแบคโตรซอรัส (Probactrosaurus) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นักบรรพชีวินวิทยาพบชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกร ฟัน และกระดูกส่วนสมองด้านท้ายทอย ของสยามโมดอน นิ่มงามมิ ที่แหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ในหินกรวดมนปนปูน หมวดหินโคกกรวด ยุคครีเทเชียสตอนต้น มีอายุประมาณ 125 - 112 ล้านปีมาแล้ว
ไทยซอรัส จงลักษมณี คืออิกธิโอซอร์ (Ichthyosaurs) ประเภทหนึ่ง อิกธิโอซอร์ไม่ใช่ไดโนเสาร์ แต่เป็นสัตว์เลื้อยคลานโบราณ ที่ละทิ้งผืนแผ่นดินลงไปอาศัยอยู่ในทะเลและวิวัฒนาการจนมีรูปร่างคล้ายปลา เช่นเดียวกับปลาโลมา และปลาวาฬในปัจจุบัน อิกธิโอซอร์ มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสสิกตอนต้น ถึง ครีเตเซียสตอนปลาย ซึ่งเป็นยุคเดียวกับไดโนเสาร์ ในประเทศไทย ดร.จงพันธ์ จงลักษมณี นักโบราณชีววิทยาของกรมทรัพยากรธรณีได้พบฟอสซิลของอิกธิโอซอร์ ในหินปูนยุคไทรแอสสิกตอนล่าง ที่เขาทอง จังหวัดพัทลุง ฟอสซิลของอิกธิโอซอร์ชิ้นนี้นั้น เป็นอิกธิโอซอร์ที่โบราณมาก แตกต่างไปจากพวกที่เคยพบมาแล้ว จึงได้ชื่อใหม่ว่า ไทยซอรัส จงลักษมณี (Thaisaurus chonglakmanii) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ
ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae) เป็นไดโนเสาร์ประเภทกินพืช จัดอยู่ในกลุ่มที่มีสะโพกแบบนก (ออร์นิโธพอด) กลุ่มเดียวกับอิกัวโนดอน พบกรามล่างซ้าย ในชั้นหินกรวดมนปนปูน หมวดหินโคกกรวด ซึ่งอยู่ในสมัยแอปเทียน (Aptian) ยุคครีเทเชียสตอนต้น หรืออายุประมาณ 100 ล้านปีก่อน แหล่งที่พบคือบริเวณสระน้ำของหมู่บ้านโป่งแมลงวัน ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา การค้นพบนี้ เป็นผลงานวิจัยร่วมกันของนักวิจัยจากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกูอิ ประเทศญี่ปุ่น คณะผู้วิจัยได้ให้ชื่อสกุลของไดโนเสาร์นี้ว่า “ราชสีมาซอรัส” ตามชื่อแบบสั้นของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบ และให้ชื่อเฉพาะชนิดพันธุ์ว่า “สุรนารีเอ” ตามชื่อของท้าวสุรนารี วีรสตรีของจังหวัดนครราชสีมา

เมืองไทยก็มีไดโนเสาร์