ก้าวผ่านมาตราธรณีกาล
ช่วงต้นของเส้นทางเดินชมนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์สิรินธร เราจะเห็นลายเส้นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ฝังอยู่บนพื้น มันคือมาตราธรณีกาล (Geological Time Scale) ที่ใช้ลำดับอายุทางธรณีวิทยา นับแต่โลกกำเนิดขึ้นเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งช่วงเวลาออกเป็น บรมยุค มหายุค ยุค และสมัย ตามลำดับ
ดังนั้นในตารางสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ จึงมีลายเส้นตัดกันเป็นช่องย่อยๆ แบ่งตามช่วงเวลาดังกล่าว ในแต่ละช่องยังมีสัญลักษณ์รูปพืชและสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งกำเนิดขึ้นในเวลานั้นอีกด้วย
เมื่อเราก้าวย่างผ่านมาตราธรณีกาลบนพื้น เท่ากับเรากำลังเดินทางผ่านกาลเวลาของโลกยาวนานถึง 4,600 ล้านปี ได้เห็นและเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกแต่ละยุคสมัยอย่างกระชับฉับไว
ตารางช่องแรกที่เราก้าวเท้าลงไปคือช่วงเวลาพรีแคมเบรียน กินเวลาตั้งแต่ 4,600-542 ล้านปีก่อน ขณะนั้นโลกของเรายังมีเพียงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยในทะเล ได้แก่ แมงกะพรุนและกัลปังหา
ถัดมาเป็นช่องตารางของมหายุคพาลีโอโซอิก กินเวลาในช่วง 542-251 ล้านปีก่อน และแบ่งเป็นตารางย่อยของ 6 ยุค ได้แก่ ยุคแคมเบรียน ออร์โดวิเชียน ไซลูเรียน ดีโวเนียน คาร์บอนิเฟอรัส และเพอร์เมียน นับเป็นมหายุคที่พืชและสัตว์วิวัฒนาการเกิดขึ้นจำนวนมาก บนพื้นจึงปรากฏสัญลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตหลากหลาย ทั้งสัตว์ที่มีเปลือกแข็งหุ้มตัว เช่น หอย ไทรโลไบต์ ปลาชนิดต่างๆ แมลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กระทั่งสัตว์เลื้อยคลาน
จากนั้นเราก้าวข้ามไปยังช่องของมหายุคมีโซโซอิก ช่วงระหว่าง 251-65 ล้านปีก่อน บนพื้นปรากฏรูปไดโนเสาร์ทั้งประเภทกินพืช และไดโนเสาร์นักล่า เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์วิวัฒนาการขึ้นจากสัตว์เลื้อยคลาน และแพร่กระจายไปทั่วโลก
ทว่าหลังมหายุคซีโนโซอิกเกิดเหตุการณ์ที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปอย่างเป็นปริศนา ดังนั้นช่องตารางถัดมาของมหายุคซีโนโซอิก บนพื้นจึงปรากฏภาพ ช้าง ม้า วาฬ โลมา ลิง เพราะเป็นช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญแทนที่สัตว์เลื้อยคลาน
กระทั่งเราก้าวมาถึงด้านท้ายของตารางมาตราธรณีกาล ก็ปรากฏรูปมนุษย์ที่พื้น แสดงให้เห็นว่าเผ่าพันธุ์ของเราถือกำเนิดขึ้นมาในโลกสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน