You are here

ประวัติการขุดค้นไดโนเสาร์ที่ภูเวียง

Share:  

ประวัติการขุดค้นไดโนเสาร์ที่ภูเวียง

เมื่อปี พ.ศ. 2519 กรมทรัพยากรธรณีได้ส่งคณะไปสำรวจแร่ยูเรเนียมในพื้นที่ภูเวียง จ.ขอนแก่น ผลปรากฏว่า นักธรนีวิทยาในทีมสำรวจได้พบฟอสซิลกระดูกท่อนใหญ่บริเวณประตูตีหมา ทางทิศตะวันตกของภูเวียง เมื่อส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญโบราณชีววิทยาชาวฝรั่งเศสตรวจสอบ พบว่าเป็นฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ นับเป็นการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ครั้งแรกของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดโครงการความร่วมมือด้านโบราณชีววิทยาระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
หลังการพบฟอสซิลไดโนเสาร์ครั้งแรก มีการสำรวจไดโนเสาร์ที่ภูเวียงตามมาอย่างต่อเนื่อง และพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมากกระจายในบริเวณกว้าง ที่สำคัญคือการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลกที่ภูเวียง ได้แก่ไดโนเสาร์ซอโรพอด ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ไดโนเสาร์เทอโรพอด สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส และ สยามโมซอรัส สุธีธรนิ
ปัจจุบันมีหลุมขุดฟอสซิลไดโนเสาร์ถึง 9 หลุมในเขตภูเวียง ได้แก่
หลุมขุดค้นที่ 1 ภูประตูตีหมา ขุดพบกระดูกของ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน และฟันของ สยามโมซอรัส สุธีธรนิ
หลุมขุดค้นที่ 2 ถ้ำเจีย พบกระดูกคอของ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน
หลุมขุดค้นที่ 3 ห้วยประตูตีหมา พบกระดูกหลายชิ้นของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่
หลุมขุดค้นที่ 4 โนนสาวเอ้ บ้านหนองคอง พบกระดูกของไดโนเสาร์ซอโรพอด (ไดโนเสาร์ที่เดินด้วยสี่ขา คอยาว ส่วนใหญ่กินพืชเป็นอาหาร) ขนาดใหญ่ และตัวที่อยู่ในวัยเยาว์ นอกจากนั้นยังมีเกล็ดปลา เลปิโดเทส และกระดองเต่า
หลุมขุดค้นที่ 5 ซำหญ้าคา พบกระดูกของไดโนเสาร์ซอโรพอดปนกับไดโนเสาร์เทอโรพอด (ไดโนเสาร์ที่เดินด้วยสองขาหลัง ขาหน้าขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นพวกกินเนื้อ)
หลุมขุดค้นที่ 6 ดงเค็ง พบกระดูกของไดโนเสาร์ซอโรพอดหลายชิ้น และฟอสซิลจระเข้ขนาดเล็ก
หลุมขุดค้นที่ 7 ภูน้อย พบกระดูกไดโนเสาร์หลายขนาดปะปนกัน
หลุมขุดค้นที่ 8 หินลาดป่าชาด พบรอยตีนไดโนเสาร์หลายรอยบนลานหิน ทั้งไดโนเสาร์ขนาดเล็กและไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่
หลุมขุดค้นที่ 9 หินลาดยาว พบกระดูกของ สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส

ประวัติการขุดค้นไดโนเสาร์ที่ภูเวียง