เปิดโลกไดโนเสาร์ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร
ไดโนเสาร์เป็นสัตว์ที่น่าพิศวง ด้วยขนาดใหญ่มหึมาและรูปร่างราวสัตว์ประหลาดจากภาพยนตร์แฟนตาซี พวกมันครองโลกยาวนานถึง 160 ล้านปี วิวัฒนาการจนมีจำนวนมากมายหลากหลายชนิด แพร่กระจายไปทั่วพื้นพิภพ ก่อนที่จะสูญพันธุ์อย่างเป็นปริศนาเมื่อราว 65 ล้านปีก่อน ถึงอย่างนั้นพวกมันยังคงดึงดูดความสนใจจากคนในปัจจุบัน อย่างที่ไม่มีสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดใดเทียบได้
อย่าแปลกใจถ้าเราจะชักชวนให้ไปท่องแดนไดโนเสาร์ด้วยกัน ระหว่างเดินทางขอให้ลองหลับตาแล้วใช้จินตนาการพาเราย้อนเวลาสู่อดีต ราวร้อยกว่าล้านปีที่แล้วดินแดนอีสานของไทยเคยเป็นถิ่นอาศัยของไดโนเสาร์จำนวนมาก แล้วเมื่อเราลืมตาขึ้นก็พอดีมาถึงพิพิธภัณฑ์สิรินธร ที่ภูกุ้มข้าว จังหวัดกาฬสินธุ์
อาคารพิพิธภัณฑ์มองเห็นแต่ไกล รูปทรงเรียบง่ายสีน้ำตาล ดูราวเนินดินที่กลมกลืนกับภูมิประเทศรอบด้าน แวดล้อมด้วยหุ่นจำลองไดโนเสาร์ขนาดใหญ่นานาชนิดยืนตระหง่านตามสุมทุมพุ่มไม้ราวมีชีวิต
เมื่อก้าวเข้าสู่ภายในอาคารบริเวณโถงใหญ่ด้านหน้า สิ่งที่ปะทะสายตาอย่างจังก็คือไดโนเสาร์ขนาดมหึมา สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส ไดโนเสาร์กินเนื้อพันธุ์ดุที่เคยมีชีวิตอยู่ในดินแดนประเทศไทย มันยืนตระหง่านบนสองขาหลังบึกบึน ท่วงท่าคล้ายเตรียมกระโจนไปข้างหน้า ปากอ้ากว้างเต็มไปด้วยฟันและเขี้ยวแหลมคม ดวงตาถลึงจ้องดุดัน
ที่พื้นแทบเท้าของไดโนเสาร์นักล่า มีรอยตีนไดโนเสาร์ที่ปลายนิ้วแยกเป็นสามแฉกประทับเดินไปข้างหน้า มุ่งสู่ช่องทางเข้าส่วนนิทรรศการถาวร ราวกับชักชวนให้เราเดินตาม เพื่อย้อนเวลากลับไปสู่ยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลก
พื้นที่จัดแสดงของนิทรรศการแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ เมื่อเราเดินตามเส้นทางเพื่อชมเนื้อหาในแต่ละโซน ก็เปรียบเสมือนเราได้ย้อนอดีตกลับไปท่องโลกดึกดำบรรพ์ในแต่ละยุคสมัย
นับจากการกำเนิดจักรวาลและโลกเมื่อประมาณ 13,000 ล้านปีที่แล้ว สิ่งมีชีวิตแรกที่กำเนิดขึ้นบนโลกเมื่อ 3,400 ล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่วิวัฒนาการขึ้นในมหายุคพาลีโอโซอิก กระทั่งไดโนเสาร์ผงาดขึ้นครองโลกในมหายุคมีโซโซอิกแล้วสูญพันธุ์ไปอย่างเป็นปริศนา ต่อเนื่องมาถึงมหายุคซีโนโซอิกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จบลงด้วยเนื้อหาการวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์
แม้ว่าการจัดแสดงของที่นี่เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์เป็นหลัก แต่ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงตั้งแต่จุดกำเนิดโลกจนถึงยุคปัจจุบัน รวมถึงการจัดแสดงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ช่วย “คืนชีวิต” แก่ไดโนเสาร์ และดึงดูดให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์อย่างเราตื่นตาตื่นใจ สนุกและมีส่วนร่วมไปกับการชมนิทรรศการ
นับจากย่างเท้าเข้าสู่โซนแรกแล้วถูกกลืนด้วยความมืด ทันใดนั้นจอภาพยาวเหยียดที่โอบอยู่เบื้องหน้าก็ฉายภาพการกำเนิดของจักรวาลด้วยปรากฏการณ์ บิ๊กแบง เมื่อจุดแสงกลางจอภาพแตกระเบิดกลายเป็นเม็ดแสงพร่าพรายที่พวยพุ่งออกไปทุกทิศทุกทางอย่างน่าอัศจรรย์
หรือเมื่อผ่านเข้าไปในโซนของมหายุคพาลีโอโซอิก เราจะได้เห็นภาพเคลื่อนไหวของสัตว์ทะเลยุคแคมเบรียน แหวกว่ายอยู่ในจอวิดีโออย่างมีชีวิตชีวา รวมทั้งสัตว์ดึกดำบรรพ์อื่นๆ ที่วิวัฒนาการขึ้นมาตามลำดับขั้น จากปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กลายเป็นสัตว์เลื้อยคลานแห่งยุคเพอร์เมียนที่มีขนาดมหึมา และรูปร่างคล้ายสัตว์ประหลาดจากจินตนาการ ดังเช่น ซอรอกโทนัส หรือ ไดเมโทรดอน
และเมื่อเรามาถึงโซนของมหายุคมีโซโซอิก ขณะกำลังพิศวงกับโครงกระดูกขนาดมหึมาของไดโนเสาร์ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ที่ยืนตระหง่านชูคอยาวเหยียด แผงจอวิดีโอขนาดยักษ์บนผนังก็ฉายภาพฝูงไดโนเสาร์กินพืชที่ออกหากิน ก้าวเดินตามกันจนแผ่นดินสะเทือน แล้วไดโนเสาร์กินเนื้อก็โผล่มาจากแนวป่า แผดคำรามกึกก้อง เมื่อมันก้มหัวกัดเหยื่อที่ล่าได้ เราจะได้ยินเสียงเนื้อถูกฉีกกระชากดังชัดเจน
ส่วนในโซนที่แสดงวิถีชีวิตไดโนเสาร์ ที่มีทั้งตู้ ghost box ฉายภาพเรืองแสงของไดโนเสาร์ที่แสดงพฤติกรรมต่างๆ ภายในตู้กระจก และตู้เกมไดโนเสาร์ ลักษณะคล้ายเกมคอมพิวเตอร์ แต่ละตู้มักมีเด็กๆ จับจองแทบไม่ว่าง สนุกกับการเรียนรู้ในเกมทายรอยตีนไดโนเสาร์ ทายโครงกระดูกไดโนเสาร์ หรือเกมต่อจิ๊กซอว์ไดโนเสาร์
สิ่งที่พิเศษสำหรับผู้เข้าชมอย่างเราก็คือ ห้องปฏิบัติการของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้ปิดกั้นเป็นความลับ แต่กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนจัดแสดงโซน 6 “คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์” ผนังติดทางเดินชมนิทรรศการนั้นเป็นบานกระจกใสตลอดแนว เราจึงมองเห็นนักวิทยาศาสตร์ที่นี่ทำงานกันอย่างโปร่งใส ท่ามกลางฟอสซิลกระดูกส่วนต่างๆ ของไดโนเสาร์เรียงรายละลานตาบนโต๊ะภายในห้องปฏิบัติการ
เมื่อเดินชมนิทรรศการจนจบ ซึ่งใช้เวลาไม่เกินครึ่งวัน แต่ความรู้ที่ได้รับนั้นคุ้มค่า จากเทคนิคการจัดแสดงที่ชวนสนุก ตื่นตา ได้รู้จักไดโนเสาร์นานาชนิด ทึ่งเมื่อรู้ว่าในอดีตเมืองไทยก็เคยมีไดโนเสาร์อาศัยอยู่จำนวนมาก เท่านี้ก็รู้สึกราวได้ย้อนเวลากลับไปท่องโลกยุคไดโนเสาร์กันจริงๆ
เปิดโลกไดโนเสาร์ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร