เปลือกโลกเคลื่อนที่ไม่หยุด
พื้นที่จัดแสดงโซน 1 ของพิพิธภัณฑ์สิรินธร หัวข้อ จักรวาลและโลก นอกจากนำเสนอเรื่องการกำเนิดของจักรวาลแล้ว อีกมุมหนึ่งยังมีหัวข้อเกี่ยวกับโลกให้เราได้เรียนรู้
ลูกโลกจำลองขนาดใหญ่ติดตั้งที่ผนัง มีโครงสร้างเป็นแผ่นเปลือกโค้งซ้อนกันอยู่หลายชั้น โดยผู้ชมสามารถเลื่อนแต่ละชั้นให้เคลื่อนแยกจากกันได้ ลักษณะเดียวกับโลกของเราซึ่งมีโครงสร้างเป็นชั้นซ้อนกันอยู่เช่นกัน
ผิวโลกชั้นบนสุดหรือเปลือกโลกเป็นชั้นหินแข็ง ส่วนที่เป็นทวีปมีความหนาเฉลี่ย 35 กิโลเมตร ขณะเปลือกโลกใต้มหาสมุทรมีความหนาเฉลี่ย 6 กิโลเมตร
ใต้เปลือกโลกคือชั้นเนื้อโลก แบ่งออกเป็นส่วนบนซึ่งเป็นชั้นหินหนืดที่หนา 300 กิโลเมตร อุณหภูมิสูง 1,400-3,000 องศาเซลเซียส และส่วนล่างหนาประมาณ 2,600 กิโลเมตร อุณหภูมิประมาณ 3,000 องศาเซลเซียส และมีสภาพเป็นของแข็งเนื่องจากมีสภาวะความกดดันสูง
ถัดลงไปคือแกนโลกชั้นนอกซึ่งหนาประมาณ 2,300 กิโลเมตร ประกอบด้วยเหล็กและนิกเกิลที่อยู่ในสถานะของเหลว มีอุณหภูมิสูง 4,000-5,000 องศาเซลเซียส
ส่วนที่ลึกที่สุดคือแกนโลกชั้นใน มีสัณฐานทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2,400 กิโลเมตร ประกอบด้วยเหล็กและนิกเกิล มีอุณหภูมิสูงถึง 5,000-6,000 องศาเซลเซียส อยู่ในสภาพของแข็งเนื่องจากมีสภาวะความกดดันสูง
จึงเห็นได้ว่าเปลือกโลกนั้นเป็นแผ่นหินบางๆ ที่ลอยอยู่บนชั้นหินหนืดร้อนจัดซึ่งเคลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลาตามแรงเหวี่ยงจากการหมุนของโลก พลอยทำให้เปลือกโลกแตกออกเป็นแผ่นๆ และเคลื่อนตัวตามไปอย่างไม่หยุดนิ่ง
การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสภาพแวดล้อมของโลกและวิวัฒนาการของสัตว์ต่างๆ รวมทั้งไดโนเสาร์ด้วย
เปลือกโลกเคลื่อนที่ไม่หยุด