ธรณีวิทยาภูเวียง
ภูเวียงเป็นเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีรูปร่างคล้ายกระเพาะอาหาร โดยพื้นที่ตรงกลางค่อนมาทางตะวันออกเป็นแอ่งที่ราบ มีเนินเขาล้อมรอบคล้ายวงแหวนและบริเวณที่สูงลักษณะภูเขายอดตัด
ส่วนลักษณะทางธรณีวิทยาของเทือกเขาภูเวียง เป็นหินตะกอนในกลุ่มหินโคราช ซึ่งเป็นชั้นหินที่ถือกำเนิดหรือสะสมตัวบนแผ่นดินในช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ครองโลก ประกอบด้วยชั้นของหมวดหินที่มีอายุในช่วงมหายุคมีโซโซอิก ได้แก่ หมวดหินน้ำพอง หมวดหินภูกระดึง หมวดหินพระวิหาร หมวดหินเสาขัว หมวดหินภูพาน หมวดหินโคกกรวด และมีชั้นตะกอนของยุคปัจจุบันปิดทับ
เมื่อไดโนเสาร์ตายลง ฟอสซิลของมันจะถูกเก็บรักษาในชั้นหินที่ตะกอนสะสมตัวในยุคที่ไดโนเสาร์เคยมีชีวิตอยู่ จึงไม่แปลกที่เราจะพบฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมากที่ภูเวียง เช่น ฟอสซิลของ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน และ สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส ซึ่งขุดพบที่ภูเวียง จากชั้นหินหมวดเสาขัวที่มีอายุประมาณ 130 ล้านปี อยู่ในยุคครีเทเชียส ตอนต้น