You are here

เหยี่ยวแดง

Share:  

เหยี่ยวแดง

“เหยี่ยวแดงคอขาว” ตามที่ชาวบ้านแถบปากน้ำเวฬุเรียกนั้น แท้จริงแล้วมีชื่อที่เป็นสากล คือ เหยี่ยวแดง (Brahminy Kite) นั่นเอง
เหยี่ยวแดงเป็นเหยี่ยวขนาดกลาง ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 51 ซ.ม. ตัวผู้มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 48 ซ.ม. รูปร่างล่ำสัน คอค่อนข้างสั้น ดวงตากลมโต จงอยปากสีเทา ปากบนเป็นของุ้มแหลมคมสำหรับฉีกเหยื่อ ปลายหางค่อนข้างมน ขาสีเหลือง กรงเล็บเท้าแหลมคม แข็งแรง สำหรับการจับเหยื่อ
ลักษณะเด่นของเหยี่ยวแดงคือลำตัวมีขนสีน้ำตาลแดง ตัดกับสีขนบริเวณหัว คอ และอกซึ่งเป็นสีขาวมีลายสีดำริ้วเล็กๆ แซมอยู่ทั่วไป
เหยี่ยวแดงเป็นนกประจำถิ่นซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ประเทศศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
ส่วนในประเทศไทยสามารถพบเห็นเหยี่ยวแดงในทุกภาค มักอาศัยและหากินอยู่ในบริเวณที่ราบทุ่งนา ริมแม่น้ำ ป่าโปร่ง ปากอ่าว ชายฝั่งทะเล เกาะเล็กๆ ส่วนใหญ่ชอบอยู่ใกล้หมู่บ้านติดแม่น้ำใหญ่ เช่นที่หมู่บ้านเลนตัก บริเวณปากน้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรีนั่นเอง
ขณะล่าเหยื่อเหยี่ยวแดงจะบินวนบนท้องฟ้า แล้วทิ้งตัวลงมาใช้กรงเล็บจับเหยื่อขึ้นไปกินบนยอดไม้สูง อาหารได้แก่ กบ เขียด งู ปู สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก ลูกเป็ด ลูกไก่ รวมทั้งซากสัตว์
เหยี่ยวแดงผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน โดยทำรังบนต้นไม้ใกล้แหล่งน้ำ วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่นานประมาณ 30 วัน
สถานภาพปัจจุบันของเหยี่ยวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

เหยี่ยวแดง