You are here

เที่ยวชมหิ่งห้อยกะพริบแสง

Share:  

เที่ยวชมหิ่งห้อยกะพริบแสง

ใกล้ค่ำแล้ว ท้องฟ้าสลัวลงทุกที ถ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอื่นพอมืดแล้วคงต้องโบกมืออำลา ไม่มีอะไรให้ไปเที่ยวไปดูกันอีก
แต่สำหรับแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 (บ้านท่าสอน) แห่งนี้ ฟ้ามืดลงเมื่อไหร่ยังมีกิจกรรมดีๆ รอให้ได้ประทับใจกันอีก
เรากำลังจะชวนกันไปชมหิ่งห้อยกะพริบแสงวิบวับตามสุมทุมพุ่มไม้นั่นเอง
หนึ่งทุ่มตรง เรามีนัดกับคุณประสิทธิ์ หาญเทศ และคุณน้ำฝน เพชรคำ เจ้าหน้าที่ของสถานีฯ ที่รับอาสาขับรถไฟฟ้าพาเราไปชมหิ่งห้อย
รถไฟฟ้าเปิดโล่ง วิ่งด้วยความเงียบไปตามเส้นทางชมหิ่งห้อย ก็คือถนนที่มุ่งไปสู่ท่าเรือปลายสะพาน ซึ่งสองฝั่งเป็นแนวป่าชายเลน เราไม่ได้เปิดไฟหน้ารถ เพื่อไม่ให้แสงไฟรบกวนหิ่งห้อย รอบกายจึงมืดสนิท มองเห็นแนวไม้สองข้างทางเป็นเงาทะมึน
ช่วงแรกอาจรู้สึกหวั่นเกรงความมืด แต่เมื่อเริ่มคุ้นชินก็จะสัมผัสได้ถึงความสงบสงัดของยามกลางคืน ท่ามกลางสายลมเฉื่อยฉิว และหากลองมองขึ้นไปเบื้องบน ก็จะเห็นดาวพราวเต็มฟ้า
และแล้วบางคนบนรถเริ่มชี้ชวนให้คนอื่นดูแสงไฟดวงน้อยสีเขียวอ่อนกะพริบวิบๆ ในดงไม้ นั่นล่ะแสงหิ่งห้อยที่พวกเรามองหา
รถยิ่งแล่นลึกเข้าไปตามถนน ก็ยิ่งพบเห็นแสงหิ่งห้อยกะพริบวิบๆ วับๆ ตามแนวไม้เยอะขึ้นและถี่ขึ้น ชวนให้ตื่นตาตื่นใจไปตลอดทาง
ต้นไม้บางต้นกลายเป็นที่ชุมนุมของหิ่งห้อยจำนวนมาก เพราะมองเห็นจุดแสงเขียวเรืองกะพริบเป็นจังหวะ ดูแพรวพราวละลานตาไปทั้งต้น ราวจะแข่งกับหมู่ดาวบนฟ้า จนเราต้องจอดรถแล้วลงไปยืนดูกันเลยทีเดียว
หากลองสังเกตุดูจะพบว่า หิ่งห้อยมักรวมกลุ่มบนต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่ง แล้วเปล่งแสงกะพริบเป็นจังหวะพร้อมกัน ราวกับกำลังตกลงอะไรกันบางอย่าง
ข้อสงสัยนี้มีคำเฉลย นักวิชาการป่าไม้อย่างคุณน้ำฝนให้ความรู้กับเราว่า แสงกะพริบของหิ่งห้อยที่เรากำลังชื่นชมอยู่นี้ แท้จริงแล้วเป็นการส่งสัญญาณแสงเพื่อ “จีบ” กันของตัวผู้และตัวเมีย
พื้นที่บริเวณนี้มีหิ่งห้อย 2 ชนิด คือ เพอรอบทิค วารีดะ และ เพอรอบทิค มาแรคซี
หิ่งห้อยคนละชนิดจะกะพริบแสงคนละจังหวะ แต่หิ่งห้อยชนิดเดียวกันจะกะพริบแสงพร้อมกัน
แมลงเรืองแสงอย่างหิ่งห้อยมีวงจรชีวิตราว 4 เดือน แต่เป็นช่วงตัวเต็มวัยเพียง 7 วัน ในระยะนี้พวกเขากินเพียงน้ำค้าง และใช้เวลาที่เหลือในชีวิตเพื่อปฏิบัติภารกิจสืบเผ่าพันธุ์
ต้นไม้รายทางที่หิ่งห้อยบินมาเกาะเป็นกลุ่ม เช่นต้นลำพูและโกงกาง จึงกลายเป็นสถานที่ชุมนุมเพื่อการจับคู่
คุณน้ำฝนบอกว่า หิ่งห้อยตัวผู้จะเปล่งแสงดวงใหญ่กว่าตัวเมีย ตัวผู้ตัวไหนยิ่งเปล่งแสงแรงกว่า ก็ยิ่งดึงดูดตัวเมียได้มากกว่า
หากเราสังเกตุให้ดีอีก อาจเห็นจุดแสงวิบๆ กะพริบอยู่ตามพื้น นั่นหมายถึงหิ่งห้อยหนุ่มสาวที่พึงพอใจได้จับคู่กันแล้ว ชวนกันบินลงไปผสมพันธุ์กันข้างล่าง
พวกเราบางคนจึงร้องอ๋อ เพราะเมื่อกี้เขาเป็นคนเห็นแสงหิ่งห้อยบางดวงกะพริบอยู่เรี่ยพื้น เข้าใจแล้วว่าพวกมันกำลังปฏิบัติภารกิจรัก...
เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีระบบนิเวศป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีหิ่งห้อยมาอาศัยอยู่จำนวนมาก
คุณน้ำฝนให้ข้อมูลกับเราว่า ศูนย์ฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมหิ่งห้อยในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม เนื่องจากฝนไม่ตก และอากาศเย็นสบาย
แต่ช่วงเวลาที่มีหิ่งห้อยให้ดูมากที่สุด อยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์
หากใครมาชมหิ่งห้อยในเวลานั้น ก็จะได้เห็นแสงกะพริบของหิ่งห้อยระยิบระยับบนต้นไม้ เกือบตลอดแนวของถนนที่ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร
ตามปรกตินักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมหิ่งห้อยโดยนั่งรถไฟฟ้าที่ศูนย์ฯ ให้บริการ นอกจากนั้นทำได้ด้วยการเช่าจักรยานถีบ หรือใครจะเดินเท้าก็ไม่ว่ากัน
ประสบการณ์เที่ยวชมหิ่งห้อยสร้างความประทับใจที่ไม่มีอะไรเหมือน
ยิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีวันแห่งความรัก ลองคิดดูหากใครได้มาเดินทอดน่องชมแสงหิ่งห้อยกับคนรู้ใจ ท่ามกลางบรรยากาศสุขสงบของกลางคืน และแสงกะพริบวิบวับของหิ่งห้อยที่รู้แล้วว่าคือการส่งสัญญาณเลือกคู่ เท่านี้คงอิ่มใจไปอีกนาน

เที่ยวชมหิ่งห้อยกะพริบแสง

loading