ชุมชนโรงไม้
ใครได้มาเยือนสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 (บ้านท่าสอน จันทบุรี) นอกจากกิจกรรมการท่องเที่ยวประเภทเรียนรู้ระบบนิเวศน์และธรรมชาติ เช่น ล่องเรือชมเหยี่ยวแดง เดินชมป่าชายเลนหรือหิ่งห้อยแล้ว ที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทชุมชม ได้แก่หมู่บ้านโรงไม้ ซึ่งเป็นแหล่งขายของที่ระลึก เช่น กะปิหรือกุ้งแห้งที่ขึ้นชื่ออีกด้วย
ชุมชนโรงไม้ตั้งอยู่ที่ริมคลองบางชัน ซึ่งเชื่อมกับปากน้ำเวฬุ พวกเรานั่งเรือจากท่าของสถานีฯ เพลิดเพลินกับแนวป่าชายเลนริมฝั่งน้ำ และเหยี่ยวแดงที่ร่อนวนบนฟ้าเปิดโปร่ง ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีก็มาถึงที่หมาย
แรกเห็นก็รู้ได้ถึงความเป็นชุมชนใหญ่ บ้านเสาสูงหลังคาจั่วปลูกสร้างเรียงรายตลอดแนวริมตลิ่งสองฝั่งคลองยาวเหยียด สะดุดตากับศาลเจ้าปากน้ำเวฬุที่ตั้งอยู่หัวมุมหนึ่งของหมู่บ้าน
ศาลเจ้าเก่าแก่แห่งนี้บ่งบอกว่าชาวชุมชนมีเชื้อสายจีน และวัดของชุมชน ได้แก่วัดอรัญสมุทธาราม หรือวัดบางชัน ซึ่งมีเอกสารวิสุงคามสีมาจากสมัยรัชการที่ 5 ก็ยืนยันได้ว่าหมู่บ้านนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว
ทุกวันนี้ชุมชนโรงไม้ยังไม่มีถนนเข้ามาถึง การสัญจรเข้าและออกหมู่บ้านใกล้ปากแม่น้ำแห่งนี้ทำได้โดยทางเรือเท่านั้น
ผู้ใหญ่บ้านโรงไม้ ไพริน โอฬารไพบูลย์ บอกกับเราว่า ปัจจุบันชุมชนมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 120-130 หลังคาเรือน ราวพันกว่าคน ชาวบ้านร้อยละแปดสิบยังชีพด้วยการทำหลักเคย หรือทำประมงพื้นบ้านอื่นๆ เช่น ตกปู ยกยอกุ้ง หรือเลี้ยงปลาในกะชัง
หลักเคยทำจากเสาไม้ไผ่สูงสองต้นปักคู่กันในน้ำ แล้วใช้อวนปากทรงสี่เหลี่ยมคล้ายมุ้งสี่หูตะแคงข้างผูกกับเสาทั้งสอง ช่วงน้ำขึ้นชาวบ้านจะปล่อยให้สัตว์น้ำที่ขึ้นจากทะเลผ่านไปก่อน แล้วค่อยกางอวนดักในช่วงน้ำลง เมื่อได้สัตว์น้ำประเภท กุ้ง หอย หมึก ก็จะนำกลับไปทำแปรรูป
ส่วนเคย ซึ่งลักษณะคล้ายกุ้งตัวเล็กๆ นำไปใช้ทำกะปิ จะดักได้เฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ดังนั้นใครตั้งใจมาหาซื้อกะปิรสดีของชุมชนโรงไม้ โปรดจำไว้ว่าต้องมาในช่วงนี้
ส่วนกุ้งนั้นจับได้ตลอดปี การทำกุ้งแห้งจึงเป็นอาชีพหลักของชาวโรงไม้
ระหว่างพวกเราเดินเที่ยวในชุมชนไปตามสะพานปูนทอดยาวขนานริมตลิ่ง มองลงไปเบื้องล่างเต็มไปด้วยปลาตีนเล็กใหญ่ใช้ครีบไถลตัวไปบนชายหาดเลน บ้างวิ่งไล่กันหรือหากินซากปลา
ขณะที่บริเวณชานหน้าบ้านติดสะพานปูนหลายหลังมีแผงตากกุ้งสีแดงเรื่อวางเรียงอยู่ตลอดทาง
ป้ารัตนา ศรีประจันทร์ ซึ่งกำลังนั่งใช้กระจาดร่อนกุ้งแห้งอยู่หน้าบ้าน เล่าให้เราฟังอย่างอารมณ์ดีว่า ขั้นตอนการทำกุ้งแห้งนั้นเมื่อได้กุ้งจากธรรมชาติมาแล้ว ก็ต้องนำมาเลือกตัวที่ดีและล้างให้สะอาด แล้วนำไปนึ่งอีกครึ่งชั่วโมง จนมันสุก ค่อยนำมาตากแดดอีก 2 วัน
ป้าบอกเคล็ดลับด้วยว่าถ้าแดดดีกุ้งแห้งถึงจะหอม
ตากแดดแล้วนำมาใส่ถุงผ้าทุบกับพื้นให้เปลือกแหลก ค่อยนำมาร่อนแล้วคัดแยกตามขนาด ขายกิโลกรัมละ 1,100 บาท
ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาหาซื้อกะปิ กุ้งแห้ง ฯลฯ ถึงชุมชนโรงไม้อยู่บ่อยๆ
แต่บางครั้งเจอนักท่องเที่ยวช่างต่อราคา ชาวบ้านไม่ขายให้ก็มีนะ
นอกจากเป็นแหล่งขายของที่ระลึก ชุมชนโรงไม้ยังมีประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาแต่โบราณ คือ เทศกาลแห่เจ้ารอบคลอง ซึ่งชาวชุมชนจะจัดทุกปีหลังจากเทศกาลตรุษจีน 15 วัน
ผู้ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจึงไม่ควรพลาดมาเยือนชุมชนโรงไม้แห่งนี้