ศาลพระกาฬ
ตรงจุดที่ถนนศรีสรรเพชญ์ตัดกับถนนป่าโทนในเกาะเมืองอยุธยา เป็นสี่แยกที่เรียกว่า “ตะแลงแกง” อันเป็นย่านสำคัญถือกันว่าเป็นใจกลางพระนคร และเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง ดังมีหลักฐานของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยนั้นบันทึกไว้ว่า ตั้งแต่ประตูชัยขึ้นมา จนถึงย่านตะแลงแกง เป็นจุดที่มีผู้คนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น มีตลาดขายของชำและของสดทั้งเช้า-เย็น ได้แก่ ตลาดหน้าคุก ตลาดหน้าศาลพระกาฬ ด้วยเหตุนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมักใช้บริเวณนี้เป็นที่ประหารชีวิตและเสียบหัวนักโทษประจาน ในคดีล้มล้างราชบัลลังก์ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะทำการใหญ่ ต่อไป
หนึ่งในโบราณสถานสำคัญในย่านนี้ ที่แม้จะเหลือเพียงฐานรากก็ตาม นั่นคือศาลพระกาฬ ซึ่ง เป็นเทวสถานสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังใน ‘ตำนานกรุงเก่า’ ที่พระยาโบราณราชธานินทร์ บันทึกไว้ในปีพ.ศ. 2450 กล่าวว่า“...ข้างฟากถนนตะแลงแกงทางใต้ด้านตะวันตก มีศาลพระกาฬหลังคาเป็นซุ้มปรางค์ และมีศาลอยู่ต่อกันไปเข้าใจว่าจะเป็นศาลพระเสื้อเมื อง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ที่ตรงตะแลงแกงเห็นจะถือกันว่าเป็นกลางพระนคร...”
จากการขุดแต่งของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2512 พบว่าโบราณสถานแห่งนี้ เป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น หรือราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นปรางค์ซุ้ม 4 ทิศ ภายในขุดพบเทวรูปสำริด เช่น รูปพระอิศวร พระนารายณ์ และพระคเณศ มีลักษณะเครื่องแต่งกายคล้ายศิลปะเขมรโบราณสมัยนครวัด ต่อมาจึงมีการสร้างวิหารใหญ่เพิ่มเติมขึ้นทางด้านหน้าขององค์ปรางค์ จากหลักฐานที่พบสันนิฐานได้ว่าศาลพระกาฬในสมัยแรกสร้างนั้น เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวะนิกาย และไวษณพนิกาย มาก่อน ต่อมาถูกดัดแปลงให้เป็นพุทธสถาน ด้วยมีการพบพระพุทธรูปในขณะทำการขุดแต่งด้วย สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในราว พ.ศ. 2179 ซึ่งในพระราชพงศาวดารระบุว่า สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดฯ ให้รื้อเทวสถานเดิมย้ายขึ้นไปสร้างใหม่ยังบริเวณชีกุน และจากการศึกษาหลักฐานประเภทเศษภาชนะดินเผา และเครื่องถ้วย จึงพบว่า ภายหลังจากดัดแปลงเป็นพุทธสถานแล้ว ศาลพระกาฬได้ถูกทิ้งร้างไปอีกครั้ง ในช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หรือช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มาจนถึงในปัจจุบัน
ศาลพระกาฬ
 |
ทิศใต้ของศาลหลักเมือง ต.ประตูชัย
|