วัดใหญ่ชัยมงคล
เป็นวัดเก่าอีกวัดหนึ่งซึ่งสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่าเดิมชื่อ วัดป่าแก้ว หรือ วัดเจ้าไท สร้างขึ้นในบริเวณที่ปลงศพเจ้าแก้วกับเจ้าไทย พระราชโอรสของพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งสิ้นพระชนม์ในคราวเกิดโรคระบาด วัดนี้มีความสำคัญเพราะเป็นวัดของสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี มีพระวันรัตน์เป็นหัวหน้าคณะ คู่กับพระพุทธโฆษาจารย์ แห่งวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งเป็นฝ่ายคามวาสี
เมื่อเข้าสู่บริเวณวัด ก็จะพบพระเจดีย์ขนาดสูงใหญ่สะดุดตา พระเจดีย์องค์นี้ชื่อว่า “เจดีย์ชัยมงคล” เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานบัลลังก์แปดเหลี่ยม พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่า เจดีย์นี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพื่อเป็นอนุสรณ์ในชัยชนะที่มีเหนือพระมหาอุปราชา และเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นวัดชัยมงคล ชาวบ้านนิยมเรียกวัดใหญ่ชัยมงคลตามขนาดของพระเจดีย์ แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านว่าเจดีย์องค์นี้อาจสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยดูจากลักษณะการเรียงอิฐขององค์ระฆังซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างคล้ายแบบเปอร์เซียซึ่งนิยมกันในสมัยนั้น
วัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าไท ต้องร้างลงเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อทัพพม่าได้ยกพลมาประชิดพระนคร สมเด็จพระที่นั่งสุริยาตรมรินทร์โปรดเกล้า ให้ยกทัพเรือออกจากพระนคร ไปตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้ว แต่ทัพเรือเสียทีข้าศึก กองทัพพม่าได้ยึดเอาวัดป่าแก้วเป็นที่ตั้งทัพ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310 วัดแห่งนี้ก็ได้ร้างลง
ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจ นั่นคือ พระพุทธไสยาสน์ในวิหารพระนอน หันพระเศียรไปทางทิศใต้ตามคติโบราณที่ว่าทิศหัวนอนคือทิศใต้ เพื่อจะได้หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ส่วนที่ระเบียงคตมีพระพุทธรูปวางเรียงรายอยู่โดยรอบ ใครเที่ยววัดบ่อยๆ ก็จะทราบได้ว่าลักษณะเช่นนี้พบได้ตามวัดสำคัญๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ
มีตำนานเรื่องเล่าอันเกี่ยวข้องกับสถานที่ในวัดใหญ่ชัยมงคลหลายเรื่อง อาทิ ในพระอุโบสถมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเสี่ยงเทียนอธิษฐานของพระเฑียรราชาก่อนการขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือที่ศาลเจ้าพ่อสิทธิชัย เชื่อว่าเป็นที่สถิตดวงพระวิญญาณของพระโอรสในพระครรภ์ของพระนางเรือล่ม ในรัชกาลที่ 5 เป็นต้น ความเชื่อและเรื่องเล่าต่างๆ นี้ก็ทำให้การมาเยือนวัดใหญ่ชัยมงคลมีสีสันและความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
วัดใหญ่ชัยมงคล
 |
ริมทางหลวงหมายเลข 3059 ใน ต. สำเภาล่ม ใกล้กับวัดพนัญเชิง
ค่าเข้าชม คนไทยเข้าฟรี ชาวต่างประเทศ 20 บาท
ดูรายละเอียด http://www.watyaichaimongkol.net/
|