วัดธรรมิกราช
เดิมชื่อ วัดมุขราช สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยพระยาธรรมิกราช โอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง โดยสร้างขึ้นในยุคเดียวกับวัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีพระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จมาฟังธรรมเป็นประจำในวันพระ และเป็นสถานที่สอบเปรียญธรรมสำหรับพระสงฆ์ในสมัยโบราณ
วัดธรรมิกราชมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับกษัตริย์อยุธยาหลายพระองค์ เช่น ในสมัยปลายอยุธยา สมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรทรงผนวชที่วัดนี้พร้อมด้วยมหาดเล็กชื่อ หง ซึ่งต่อมาได้เข้าร่วมกับพระยาตากจนได้รับพระราชทานเป็นพระยาเพชรพิชัย
เมื่อเข้าสู่บริเวณวัดแล้วจะเห็นเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เป็นเศียรพระธรรมิกราช พระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะอู่ทอง ที่พบในวิหารทรงธรรม ซึ่งเหลือเฉพาะพระเศียร ส่วนขององค์พระได้ชำรุดไป พระเศียรที่ปรากฏอยู่ภายในวัด เป็นพระเศียรที่จำลองจากของจริงที่เก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา
สิ่งน่าสนใจของวัดนี้อยู่ที่เจดีย์ประธาน หรือ เจดีย์สิงห์ล้อม เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่ตั้งอยู่บนฐานรูปแปดเหลี่ยม มีบันไดนาคทั้งสี่ทิศรอบฐาน ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะสุโขทัย อันแสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ส่วนล่างเป็นฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยม รอบฐานเจดีย์ประดับด้วยสิงห์ปูนปั้น ที่สร้างขึ้นราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง
ทั้งนาคและสิงห์เป็นสัตว์ที่พบในศิลปะเขมรโบราณ โดยสิงห์ทำหน้าที่ดูแลศาสนสถาน ส่วนราวสะพานนาคซึ่งเป็นทางเดินเข้าศาสนสถาน เป็นเสมือนสะพานสายรุ้งที่เชื่อมโลกสวรรค์และโลกมนุษย์เข้าด้วยกัน
ด้านหลังพระเจดีย์สิงห์ล้อม คือ วิหารหลวงหรือวิหารทรงธรรม เป็นพระวิหารใหญ่ขนาดเก้าห้องซึ่งแสดงถึงความใหญ่โตของสถานที่แห่งนี้ สร้างขึ้นรัชสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อเป็นสถานที่ฟังธรรมในวันพระ วิหารทรงธรรมนี้มีมุขโถงด้านหน้าไม่มีช่องหน้าต่างแต่เจาะเป็นช่องแสงแทน เช่นเดียวกับวิหารหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ์ และพระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ รูปแบบเช่นนี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะอยุธยาตอนกลาง
วัดธรรมิกราช
 |
ถ. อู่ทอง ตรงข้ามพระราชวังโบราณ
|