อาหารอยุธยา
จากลักษณะของภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตและอาหารการกินของผู้คนแต่ละท้องถิ่น เช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำล้อมรอบ คนอยุธยาจึงหากินกับท้องทุ่งนา ผูกพันกับแม่น้ำลำคลอง สำรับอาหารท้องถิ่นส่วนใหญ่จึงเป็นปลาและผักที่หาได้จากธรรมชาติ
เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ว่า แม่น้ำลำคลองในอยุธยานั้นมีปลาชุกชุม คนอยุธยากินข้าวและปลาเป็นหลัก ทั้งต้ม แกง รวมทั้งปลาแห้งและปลาเค็ม จิ้มน้ำพริก กินกับผักสดที่เก็บจากหนองน้ำหรือชายป่า ไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์บก ไม่ว่าเนื้อสัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย หมู ไก่
อย่างไรก็ตามในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองจากการเป็นเมืองท่าค้าขายกับนานาชาติ โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการติดต่อกับชาวต่างชาติจำนวนมาก ทั้งชาวญี่ปุ่น โปรตุเกส เปอร์เซีย และมุสลิม จึง พลอยทำให้วัฒนธรรมด้านต่างๆ ของแต่ละชนชาติแพร่หลายเข้ามาสู่อยุธยาด้วย รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อาหารไทยหลายชนิดในยุคปัจจุบัน แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดหรือดัดแปลงมาจากอาหารของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ดังเช่น ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ก็มีที่มาจากโปรตุเกส ต้นตำรับก็คือ มารี กีมาร์ เดอ ปีนา (Marie Guimar de Pinha) หรือตองกีมาร์ (Tanquimar) ซึ่งชาวไทยคุ้นเคยกันดีในชื่อ ท้าวทองกีบม้า นั่นเอง ท้าวทองกีบม้าเป็นลูกครึ่งโปรตุกีส-ญี่ปุ่น และเบงกาลี เข้ารับราชการในพระราชวังใน ตำแหน่งหัวหน้าห้องเครื่องต้น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้คิดขนมสูตรใหม่ขึ้นหลายอย่าง โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกส และใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่มี ได้แก่ มะพร้าว แป้ง ไข่ และน้ำตาล จนกลายมาเป็น “ขนมไทย” ในที่สุด
รวมทั้งอาหารประเภทแกงมัสมั่น แกงกรุหม่า ก็สืบย้อนไปได้ว่าเป็นอาหารของชาวเปอร์เซียที่เข้ามาสู่สยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา