งานหัตถกรรมของอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ถือว่าเป็นยุคทองของศิลปกรรมไทย ศิลปสกุลช่างอยุธยามีความงดงามโดดเด่น ไม่ว่าด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม หรือประติมากรรม ทั้งงานระดับช่างฝีมือในราชสำนัก และงานศิลปหัตกรรมพื้นบ้าน
เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย ผู้คนต่างหลบลี้หนีภัยไปรอบทิศ กระทั่งหลังสงคราม ผู้คนจึงทยอยกลับมาตั้งถิ่นฐานกันใหม่ และค่อยเริ่มรื้อฟื้นงานหัตถศิลป์ขึ้นมาอีกครั้ง
อยุธยาได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของไทย งานหัตกรรมต่างๆ ของอยุธยาก็ได้รับความนิยมทั้งในแง่เป็นของฝากของที่ระลึก และของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น
หม้อดินเผาคลองสระบัว เป็นงานหัตถกรรมเก่าแก่โบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ทุกวันนี้ชาวชุมชนคลองสระบัวยังคงผลิตหม้อดินเผา โดยใช้กรรมวิธีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชมการผลิตและซื้อหาได้ที่ริมคลองคลองสระบัว บริเวณข้างวัดหน้าพระเมรุ
มีดอรัญญิก เป็นมีดพื้นบ้านซึ่งตีด้วยเหล็กที่เหนียวแกร่ง คมกริบ เหมาะกับการใช้งานหลายรูปแบบ มีแหล่งผลิตที่บ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ ถ. อยุธยา-ท่าเรือ ต. ท่าช้าง อ. นครหลวง ชาวบ้านที่นี่ตีมีดกันแทบทุกครัวเรือน สามารถชมกรรมวิธีการตีมีดและเลือกซื้อกันได้ เช่น ร้านวินัย รวยเจริญ, ศูนย์วัฒนธรรม ส.อรัญญิก, ร้านมีดตราสมอ, โรงตีมีดตรามะระ เป็นต้น
ปลาตะเพียนใบลาน งานฝีมือของชาวมุสลิมแถบชุมชนบ้านหัวแหลม ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสืบทอดกันมากว่าร้อยปีแล้ว ปัจจุบันกลายเป็นของที่ระลึกขึ้นชื่อของอยุธยา แหล่งขายใหญ่คือบริเวณแผงขายหน้าวิหารพระมงคลบพิตร หรือหากต้องการชมขั้นตอนการสานและเบื้องหลังการทำ สามารถไปชมและเลือกซื้อได้ที่บ้านหัวแหลม และร้านรัตนไชย ถ. โรจนะ อำเภอพระนครศรีอยุธยา