You are here

วิถีชีวิตคนอยุธยา

Share:  

วิถีชีวิตคนอยุธยา

วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวอยุธยานั้นผูกพันกับสายน้ำและท้องทุ่งกว้าง มักตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง ทั้งบ้านเรือนไทยใต้ถุนสูงหรือเรือนแพ โดยหันหน้าเรือนออกริมน้ำซึ่งใช้เป็นทางสัญจร ด้านหลังบ้านเป็นท้องทุ่งนา ผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์จากดินตะกอนที่ไหลมาทับถมในฤดูน้ำหลาก เป็นปุ๋ยชั้นดีสำหรับการปลูกข้าว ชาวบ้านจึงยังชีพด้วยการทำนาเป็นหลัก บ้างออกเรือจับปลาในแม่น้ำลำคลองที่มีอยู่คลาคล่ำ และใช้เวลาว่างทำงานหัตถกรรมประเภทต่างๆ
วิถีชีวิตคนอยุธยาเริ่มเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การตัดถนนและทางรถไฟ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อการเกษตร รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ต้องการพัฒนาให้อยุธยาเป็นเขตอุตสาหกรรม ส่งผลให้นาข้าวแปรเปลี่ยนเป็นโรงงานที่ทยอยผุดขึ้นนับร้อยแห่ง คนหนุ่มสาวจำนวนมากละทิ้งงานภาคเกษตรไปเป็นคนงานโรงงานอุตสาหกรรม

เชื้อสายคนอยุธยา
ในอดีตกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและเมืองท่าศูนย์กลางการค้านานาชาติ นอกจากคนอยุธยาท้องถิ่นแล้วยังมีคนหลากเชื้อชาติเข้ามาค้าขาย กระทั่งตั้งชุมชนอยู่อาศัย และสืบทอดลูกหลานมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งแม้ว่าจะหลอมรวมเป็นชาวอยุธยาไปแล้ว แต่ก็ยังรักษาเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ตนเองไว้ได้ อาทิเช่น
กลุ่มชาวมุสลิม
ชาวมุสลิมซึ่งมักถูกเรียกว่า “แขก” ที่เข้ามาอยู่อาศัยในอยุธยาสมัยยังเป็นราชธานี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ พวกหนึ่งคือ “แขกตานี” เป็นกลุ่มที่มาจากหัวเมืองปัตตานี และสร้างบ้านเรือนหนาแน่นบริเวณคลองตะเคียน ทางด้านใต้ของเกาะเมือง อีกกลุ่มคือ “แขกเทศ” ได้แก่ เปอร์เซียหรืออิหร่าน อาหรับ และอินเดีย ส่วนใหญ่ตั้งชุมชนอยู่ที่ลุมพลี ภูเขาทอง หัวแหลม ชาวมุสลิมกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในสมัยอยุธยา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการปกครอง โดยเฉพาะท่านเฉกอะหมัด จุฬาราชมนตรีคนแรกของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้เป็นต้นตระกูลบุนนาค ก็เป็นแขกที่มาจากเปอร์เซีย
ชาวญวน
ชุมชนชาวญวนในอยุธยาตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลสำเภาล่ม เรียกกันว่าบ้านญวน เป็นชุมชนใหญ่ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีวัดนักบุญยอเซฟเป็นศูนย์กลางชุมชน ชาวญวนกลุ่มนี้อพยพเข้ามาในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ชาวลาว
ชุมชนเชื้อสายลาวตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักในเขตอำเภอนครหลวง คือ บ้านสามไถ บ้านต้นโพธิ์ และบ้านไผ่หนอง พวกเขาเป็นลูกหลานของกลุ่มช่างฝีมือชาวลาวเวียงจันทน์ ทั้งช่างทอง ช่างตีเหล็ก ที่อพยพหนีความแห้งแล้งกันดารจากบ้านเกิดเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2 และยังสืบสานความสามารถด้านงานช่างมาถึงปัจจุบัน ดังเช่นบ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนองเป็นแหล่งผลิตมีดพื้นบ้านชั้นดี คมกริบ แต่ถูกนำไปขายที่บ้านอรัญญิกซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ จึงรู้จักกันในนาม “มีดอรัญญิก” ตามแหล่งวางจำหน่าย
นอกจากนั้นอยุธยายังมีชุมชนเชื้อสายจีนบริเวณตลาดหัวรอ ตลาดเจ้าพรหม ย่านป้อมเพชรและวัดพนัญเชิง รวมถึงชุมชนชาวมอญที่บ้านเสากระโดง อำเภอบางปะอิน

วิถีชีวิตคนอยุธยา