วัดหน้าพระเมรุ
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่อันงดงามปรากฏชัดในสายตาเมื่อก้าวเข้าสู่พระอุโบสถขนาดเก้าห้องของวัดหน้าพระเมรุ พระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ” เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากในสมัยนี้นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ หรือทรงเครื่องอย่างกษัตริย์
การสร้างวัดหน้าพระเมรุมีกล่าวในตำนานว่า พระองค์อินทร์ในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. 2047 ประทานนามว่า “วัดพระเมรุราชิการราม” แต่นิยมเรียกกันต่อมาว่า “วัดหน้าพระเมรุ” ที่มาที่ไปของชื่อนี้อาจมาจากบริเวณหลังวัด เคยมีวัดเล็กๆ ชื่อวัดโคกพระยา ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ประหารชีวิตเจ้านายชั้นสูง แล้วอาจมีการสร้างพระเมรุในบริเวณนี้ จึงทำให้เรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดหน้าพระเมรุ
ในพระอุโบสถมีสิ่งน่าสนใจมากมาย เริ่มตั้งแต่ความใหญ่โตของตัวอาคารที่ยังเห็นเค้าโครงของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง ผสมผสานศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะวัดนี้ได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนช่องหน้าต่างยังไม่มีการเจาะหน้าต่างขนาดใหญ่ แต่ทำช่องแสงเป็นลูกมะหวดลายดอกเหลี่ยม เป็นงานช่างโบราณที่พบตามโบราณสถานสมัยสุโขทัย
ก่อนกราบลาพระประธาน ลองแหงนหน้าชื่นชมความงามของดาวเพดาน ที่แกะได้งดงามอลังการ สื่อความหมายถึงดวงดาวมากมายเต็มท้องฟ้า จุดสุดท้ายที่ไม่ควรพลาดชมงานฝีมือช่างอยุธยาคือ หน้าบันจำหลักไม้ ลงรักปิดทองประดับกระจก รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เหยียบเศียรของพญานาค ด้านล่างเป็นราหู
จากพระอุโบสถ แวะเข้าวิหารน้อย กราบสักการะพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ ศิลปะสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 10-14) ซึ่งมีพระนามว่า พระคันธารราษฎร์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าคงมีผู้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาจากวัดหน้าพระเมรุ จ. นครปฐม
วัดหน้าพระเมรุได้รับการพูดถึงว่าเป็นวัดที่รอดพ้นจากการเผาทำลายในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เพราะเป็นที่ตั้งทัพของพม่า จึงเหลือหลักฐานความงดงามให้เราได้ชื่นชมจนทุกวันนี้ ทว่าน่ารู้เพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 วัดหน้าพระเมรุยังเป็นสถานที่ทำสัญญาสงบศึกระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยากับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ในคราวสงครามช้างเผือกเมื่อ พ.ศ. 2106 ด้วยเช่นกัน
วัดหน้าพระเมรุ
 |
ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวตรงข้ามพระราชวังโบราณ
จากถนนอู่ทองข้ามสะพานข้ามคูเมือง ตามทางที่จะไปบ้านคลองสระบัว ตัววัดอยู่ทางซ้ายมือ
|