พิธีการคล้องช้าง
เป็นพระราชพิธีสำคัญจะกระทำได้โดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์เท่านั้น โดยมีกรมคชบาลและพราหมณ์พฤฒิบาศเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ เริ่มจากการต้อนโขลงช้างป่ามาพักไว้ที่ปีกกา แล้วจึงต้อนเข้าเพนียดครั้งละ 40-50 ตัว เพื่อคัดเลือกช้างที่ต้องลักษณะ ส่วนที่เหลือก็จะปล่อยเข้าป่าไป จากนั้น “หมอช้าง” ซึ่งทำหน้าที่คล้องช้างจะนั่งบนหลังช้างที่ฝึกมาดีแล้ว ถือไม้คันจามยาวประมาณ 5 เมตร ตรงปลายมี “บ่วงบาศ” ขนาดกว้างกว่าเท้าช้างเล็กน้อย คล้องไปที่ขาหลังของช้างป่าที่ต้องการ ซึ่งการคล้องช้างต้องใช้ทั้งสมาธิ ประสบการณ์ และพละกำลัง เนื่องจากช้างป่าจะตกใจตื่นและวิ่งเตลิดไปรอบเพนียดตลอดเวลา ต่อจากนั้นก็ใช้เชือกปะกำซึ่งทำจากหนังควายคล้องคอช้างป่าตัวนั้นไว้ ก่อนที่จะนำออกไปฝึกให้เป็นช้างงานต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เคยจัดพิธีการคล้องช้างป่าถวายแก่พระราชาธิบดีและพระราชินีอินกริด แห่งเดนมาร์ก ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2505 และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ได้มีการรื้อฟื้นพิธีคล้องช้างตำราหลวงเป็นการสาธิต ณ เพนียดพระนครศรีอยุธยาแห่งนี้ ให้ประชาชนทั่วไปได้ชม