วัดพุทไธศวรรย์
วัดพุทไธศวรรย์ตั้งอยู่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตรงข้ามกับปากคลองท่อหรือคลองฉะไกรใหญ่ ตัววัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่ได้หันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ในอดีตบริเวณรอบวัดเป็นที่อยู่ของชุมชนชาวต่างชาติ ทั้งชาวจีน มุสลิม โปรตุเกส ญวน และฝรั่งเศส ดังปรากฏร่องรอยมาจนปัจจุบัน
วัดพุทไธศวรรย์เป็นวัดเก่าแก่ของกรุงศรีอยุธยา มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งสร้างกรุง ดังหลักฐานเอกสารในพระราชพงศาวดารบางฉบับกล่าวว่า พระเจ้าอู่ทองโปรดให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ในบริเวณที่เรียกว่า “เวียงเหล็ก” ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับ เมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชานุสรณ์
วัดพุทไธศวรรย์มีการวางผังตามความนิยมของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ มีพระวิหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธาน ส่วนด้านหลังเป็นโบสถ์ โดยทั้งหมดตั้งอยู่ในระนาบเดียวกัน
ด้วยความเก่าแก่ยาวนานนี้เอง ภายในวัดจึงมีสิ่งน่าชมมากมาย ดังนั้น หากมาเยือนที่นี่ ควรมีเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจนั่นคือ องค์ปรางค์ประธานสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ศิลปลพบุรี ตั้งอยู่บนฐานไพทีย่อเหลี่ยมมีบันไดขึ้น 2 ทาง คือ ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือทิศใต้มีมณฑปสองหลัง ปรางค์ประธานนี้ ยังเห็นว่าสมบูรณ์เพราะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในปรางค์ประดิษฐานพระเจดีย์องค์เล็กๆ และรอยพระพุทธบาท ให้กราบสักการะได้ ที่บันไดทางขึ้นสู่ปรางค์ประธาน มีลายกระเบื้องเคลือบที่แต่งเป็นลายดอกไม้ซึ่งยังเหลือความงดงามให้ชม
ที่พลาดชมไม่ได้คือ ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นอาคารสองชั้น สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย บางคนเชื่อว่าเป็นอิทธิพลศิลปะแบบอิสลามที่แพร่เข้ามาในอยุธยา ส่วนการเรียกอาคารหลังนี้ว่า “ตำหนัก” อาจเพราะเชื่อกันว่าเป็นที่ประทับของพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้เป็นอาจารย์ของสมเด็จพระเพทราชา
ภายในอาคารชั้นบน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาหลายเรื่องด้วยกัน กำหนดอายุราว พ.ศ. ๒๒๕๐ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในศาสนา ที่น่าสนใจคือ ภาพเล่าเรื่องราวของพระพุทธโฆษาจารย์ ครั้งเดินทางด้วยเรือสำเภาไปเมืองลังกา ตามเนื้อหาในเรื่อง “พุทธโฆษนิทาน” อันแสดงถึงความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาระหว่างอยุธยากับลังกา แม้ภาพส่วนมากจะลบเลือนไป แต่ก็มีที่ยังเห็นได้ชัดเจน เช่น ภาพรอยพระพุทธบาทในนัมมทานที อันเป็นที่สักการะของพญานาคและสัตว์น้ำ ภาพเรือสำเภา จากเรื่อง "พุทธโฆษนิทาน" เป็นต้น
วัดพุทไธศวรรย์
 |
อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งใต้ ต. สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา
|