You are here

วัดบรมพุทธาราม

Share:  

วัดบรมพุทธาราม

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า ในปี พ.ศ. 2232 สมเด็จพระเพทราชาโปรดฯ ให้สร้างวัดบรมพุทธารามขึ้นในบริเวณย่านป่าตอง อันเป็นนิวาสสถานเดิมหรือบ้านเดิมของพระองค์ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยโปรดฯ ให้สถาปนากำแพงแก้ว พระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ เสนาสนะ กุฎี แล้วให้หมื่นจันทราช ช่างเคลือบ ให้ทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ สร้างอยู่ 2 ปีจึงแล้วเสร็จ ทรงถวายนามพระอารามว่า “วัดบรมพุทธาราม” แล้วสมโภชฉลอง 3 วัน 3 คืน มีฐานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา

วัดนี้ยังมีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ” อันมีที่มาจากการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบแปลกประหลาดตากว่าวัดอื่นนั่นเอง

จากการขุดแต่งโดยกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2499 ได้พบกระเบื้องเคลือบรูปครุฑ รูปเทพพนมเคลือบสีเหลืองแกมเขียว สันนิษฐานว่าเดิมคงติดประดับอยู่ที่พระเจดีย์ซุ้มประตูหน้าพระอุโบสถ ซึ่งนอกจากที่วัดนี้แล้ว ยังพบกระเบื้องเคลือบลักษณเดียวกันนี้ในโบราณสถานหลายแห่ง ได้แก่ พระเจดีย์ย่อเหลี่ยมเคลือบสีเหลืองแกมเขียวขนาดเล็กที่วัดธรรมมิกราช กระเบื้องเคลือบสีเหลือง ข้างพระอุโบสถวัดกุฎีดาว และพระขุนแผนเคลือบซึ่งเป็นพระพิมพ์ จากกรุในพระเจดีย์ชัยมงคล วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นต้น

ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีหลักฐานว่าโปรดให้ซ่อมวัดนี้ครั้งหนึ่ง และโปรดให้ทำบานประตูประดับมุกติดพระอุโบสถเพิ่มขึ้น ปัจจุบันบานมุกนี้ประดิษฐาน ณ หอพระมณเฑียรธรรม ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามคู่หนึ่ง และที่วัดเบญจมบพิตรคู่หนึ่ง ส่วนอีกคู่หนึ่งมีผู้นำไปตัดทำเป็นตู้ใส่หนังสือ ซึ่งตู้ใบนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงได้มา และประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นับเป็นงานฝีมือประดับมุกยอดเยี่ยมทั้ง 3 คู่

แม้ปัจจุบันวัดบรมพุทธารามจะมีสภาพเป็นวัดร้าง แต่ก็ยังเหลือสิ่งน่าสนใจให้ชม นั่นคือ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีมุขหน้าหลังและมีซุ้มประตูปูนปั้นเป็นรูปพระจุฬามณี ตัวอาคารเจาะช่องหน้าต่างทุกห้อง ฐานอาคารแอ่นโค้งแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย

ส่วนพระอุโบสถนั้นตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือ เนื่องจากทางด้านทิศตะวันออกของวัดติดกับคลองฉะไกรน้อย ซึ่งมีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจการค้า เพราะมีตลาดน้ำและตลาดบกที่สำคัญคือ ตลาดป่าตอง แนวถนนและคลองดังกล่าว อาจมีส่วนทำให้แผนผังของวัดต้องวางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เพราะพื้นที่คับแคบ ไม่สามารถวางผังตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกตามธรรมเนียมนิยมได้

เดินชมพระอุโบสถแล้ว ก็ไม่ควรผ่านเลยเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสvง ซึ่งมีอยู่ 2 องค์ ที่ยังเหลือเป็นหลักฐานสะท้อนความสำคัญของวัดนี้ในอดีตให้คนรุ่นหลังเช่นเราได้ชื่นชม

วัดบรมพุทธาราม

อยู่ริมถนนศรีสรรเพชญ์ หลังวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาและศาลากลางจังหวัด