You are here

เจดีย์ภูเขาทองและทุ่งภูเขาทอง

Share:  

เจดีย์ภูเขาทองและทุ่งภูเขาทอง

ด้วยความสูงถึง 90 เมตร ทำให้เจดีย์ภูเขาทององค์นี้โดดเด่นมองเห็นได้แต่ไกลอยู่กลางทุ่งภูเขาทอง ซึ่งเป็นทุ่งกว้างใหญ่นอกเกาะเมืองอยุธยา ในอดีตยามเหตุการณ์ปกติ นอกจากเป็นแหล่งปลูกข้าวแล้ว ในช่วงฤดูน้ำหลากชาวบ้านยังใช้บริเวณนี้เป็นที่แข่งเรือและเล่นสักวากัน แต่เมื่อเกิดศึกสงครามหลายครั้ง ท้องทุ่งแห่งนี้ก็กลายเป็นทั้งที่มั่นตั้งรับข้าศึก หรือมิฉะนั้นก็เป็นสถานที่ตั้งค่ายสำหรับข้าศึกยามยกทัพมาประชิดกรุงศรีอยุธยา
หลังสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 วัดภูเขาทองก็กลายเป็นวัดร้าง แต่พระมหาเจดีย์ยังเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาที่มีคนเดินทางมากราบไหว้เสมอ ดังปรากฏในงานวรรณกรรมเรื่อง นิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่ ที่เดินทางมานมัสการสถานที่แห่งนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า วัดภูเขาทองสร้างขึ้นในสมัยพระราเมศวรหรือสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนตัวเจดีย์นั้นมีทั้งข้อสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า เพื่อประกาศชัยชนะเหนือกรุงศรีอยุธยา ในคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และบ้างก็ว่าเป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้สร้างขึ้น
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการเสนอว่า ท้องทุ่งภูเขาทองน่าจะเป็นสถานที่กระทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาของพม่า และเจดีย์ภูเขาทองก็คือ เจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสงครามในครานั้น แต่ก็ยังมีสถานที่อีกสองแห่งซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่กระทำยุทธหัตถีเช่นกัน นั่นคือ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จ. สุพรรณบุรี และ ดอนเจดีย์อำเภอพนมทวน จ. กาญจนบุรี ส่วนที่ใดจะเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์จริงนั้นยังไม่มีข้อยุติ และคงต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป
พระเจดีย์ภูเขาทองเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสูง รูปทรงแบบมอญ คือฐานองค์ระฆังจะบานผายใหญ่กว่าเจดีย์แบบไทย ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ในปี พ.ศ. 2288 โดยเปลี่ยนทรงเจดีย์เป็นทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง คงเหลือเพียงฐานประทักษิณที่ยังเป็นรูปแบบเดิม พระเจดีย์ภูเขาทองจึงมีรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะมอญและศิลปะอยุธยาตอนปลาย
หลังชื่นชมความใหญ่โตของพระเจดีย์ภูเขาทองและสัมผัสทิวทัศน์ของท้องทุ่งโดยรอบจากบนพระเจดีย์แล้ว ก่อนกลับควรแวะกราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่บริเวณหน้าทางเข้าวัด เพื่อระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์อีกสักครั้ง

เจดีย์ภูเขาทองและทุ่งภูเขาทอง

ต.ภูเขาทอง ห่างจากเกาะเมืองไปประมาณ 3 กิโลเมตร