สถาปัตยกรรมและประติมากรรมในสมัยอยุธยา
ความโดดเด่นของงานสถาปัตยกรรม และประติมากรรมของอยุธยา ส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายพระศาสนา เป็นพุทธบูชา ความงดงามที่ปรากฏให้เห็นล้วนแสดงถึงฝีมือ ศรัทธา คติความเชื่อ เทคโนโลยีและวิทยาการ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วอายุคนหรือเพียงแค่รุ่นสองรุ่น หากแต่เกิดจากการสั่งสม ผสมผสาน และการปรับใช้จากศิลปะอื่นๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมา
หากจะชื่นชมความงามของงานสถาปัตยกรรม และประติมากรรมของสมัยอยุธยาตอนกลางเป็นต้นไป มีลักษณะเด่นให้สังเกตได้ไม่ยาก ในงานสถาปัตยกรรมยุคนี้ มักปรากฏการสร้างเจดีย์ทรงระฆัง เช่น เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล เจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นต้น อีกทั้งมีความนิยมในการสร้างโบสถ์ให้มีขนาดใหญ่และเป็นอาคารหลักของวัด ส่วนในสมัยอยุธยาตอนปลายพบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมกับเปอร์เซีย เช่น อาคารสองชั้นที่วัดเจ้าย่า ซากอาคารที่เรียกกันว่า “กำมะเลียน” วัดกุฎีดาว เป็นต้น
สำหรับงานประติมากรรม ไม่ว่าจะเป็นช่วงสมัยใด สิ่งที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การสร้างพระพุทธรูป โดยสมัยอยุธยาตอนกลางนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย แต่หากเป็นสมัยอยุธยาตอนปลาย จะนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ หรือทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ที่เห็นเด่นชัดคือ พระประธานในพระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ ที่งดงามสมบูรณ์แบบอย่างยิ่ง
สถาปัตยกรรมและประติมากรรมในสมัยอยุธยา