You are here

ตามรอยยุคกรุงเก่ารุ่งเรือง และชุมชนพ่อค้านานาชาติ สมัยอยุธยาตอนกลาง

Share:  

ตามรอยยุคกรุงเก่ารุ่งเรือง และชุมชนพ่อค้านานาชาติ สมัยอยุธยาตอนกลาง

บรรดาซากอาคารโบราณสถานของวัดวาอารามต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นของนครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา ซึ่งยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ครอบคลุมทั้งเกาะเมืองอยุธยา และบริเวณนอกเกาะเมืองโดยรอบ ซึ่งมีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง ความยิ่งใหญ่ของเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ เกิดจากการสั่งสมความรู้ ภูมิปัญญา สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ส่งต่อความรุ่งเรืองจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมซึ่งยังมีผู้คนอาศัยสืบเนื่องจวบจนปัจจุบัน

กรุงศรีอยุธยาได้ก้าวสู่ยุคแห่งความรุ่งเรือง มีสถานะเป็น “ราชอาณาจักร” อย่างแท้จริง ในช่วงเวลาหลังการปฏิรูปการเมืองการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991- 2031) ซึ่งสามารถรวมอำนาจการเมืองการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางได้สำเร็จ มีการจัดระเบียบแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน เกิดระบบการควบคุมผู้คนในสังคมที่เรียกว่า ‘ระบบศักดินา’ เพื่อกำหนดสถานะความสัมพันธ์ของผู้คนในราชอาณาจักร มีการแยกราชการระหว่างฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกัน

ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของบ้านเมือง กอปรกับทำเลที่ตั้งอันเหมาะสม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งให้กรุงศรีอยุธยามีบทบาทโดดเด่นมาก ในการเป็นเมืองท่านานาชาติ ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้ติดต่อกับโลกภายนอก สินค้าสำคัญสำหรับพ่อค้าชาวต่างชาติก็คือของป่า ด้วยบทบาทการเป็นเมืองท่าที่คึกคักนี้เอง จึงไม่ต้องสงสัยว่า เหตุใดกรุงศรีอยุธยาจึงเต็มไปด้วยตลาดและย่านการค้า รวมถึงผู้คนต่างชาติต่างภาษา ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามา และมีจำนวนไม่น้อยที่เลือกลงหลักปักฐาน เกิดการผสมผสานทั้งชาติพันธุ์ และการอยู่ร่วมกันของผู้คนได้อย่างราบรื่นกลมกลืน แม้จะมีความแตกต่างในศรัทธาและความเชื่อเรื่องศาสนาก็ตาม

คำให้การหลวงประดู่ในทรงธรรม วัดประดู่ทรงธรรม หรือ คำพรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา เป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงการค้าขายที่คึกคักในสมัยอยุธยา มีผู้คนมากหน้าหลายตาหลากเชื้อชาติ ไปมาอย่างขวักไขว่ ซึ่งรวมถึงตลาดหลายแห่งบนเกาะเมือง แต่ละแห่งขายสินค้าแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักเป็นชาวจีนที่ทำมาค้าขายตามตลาดเหล่านี้ เป็นต้นว่า หากต้องการซื้อพวกขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ เครื่องจันอับ ต้องไปที่ ตลาดขนมจีน ส่วน ตลาดบ้านจีน ที่อยู่ปากคลองขุนละครไชย จะมีโรงโสเภณีตั้งอยู่ท้ายตลาด ตลาดใหญ่ท้ายพระนคร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนย่านในไก่ นับเป็นตลาดใหญ่แห่งหนึ่ง ขายเครื่องทองเหลือง ทองขาว กระเบื้อง ถ้วยโถโอชาม ตลาดชีกุน เป็นย่านของพวกแขกมุสลิม มีอาหารมุสลิมขาย ตลาดหน้าวัดมหาธาตุ ขายเครื่องใช้ ไม้กวาด พัด เสื่อ ตลาดน้ำวนบางกะจะ อยู่ใกล้กับท่าเรือพ่อค้าต่างชาติ ขายสินค้าประเภทของป่า ของทะเล และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หากนึกถึงบรรยากาศการค้าขายในยุคนั้นไม่ออก ลองแวะเข้าไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังบนศาลาการเปรียญ วัดเชิงท่า แล้วเทียบดูว่าตลาดในอดีตและปัจจุบันเป็นแปลงไปมากน้อยเพียงใด

ความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ยังปรากฏชัดในงานด้านศิลปกรรมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ ที่สรรค์สร้างขึ้นเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาเป็นหลัก ล้วนมีพัฒนาการที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ งานในสาขาต่างๆ จึงลึกซึ้งสะท้อนถึงความรุ่งเรืองของยุคสมัยได้อย่างชัดเจน

บรรดาร่องรอยดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นซากอาคารโบราณสถาน หรือที่เก็บรักษาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตลอดจนการตั้งถิ่นฐานของผู้คน ไปจนถึงหมู่บ้านของชาวต่างชาติบริเวณนอกเกาะเมืองทางด้านทิศใต้ จึงเป็นหลักฐานชั้นดีที่บอกเล่าเรื่องราวถึงภูมิหลังอันน่าภาคภูมิใจของอดีตราชธานีที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้บนหน้าประวัติศาสตร์โลก

ตามรอยยุคกรุงเก่ารุ่งเรือง และชุมชนพ่อค้านานาชาติ สมัยอยุธยาตอนกลาง