You are here

Trip Planning

กาฬสินธุ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 519 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดกาฬสินธุ์ได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

โดยรถไฟ
ไม่มีรถไฟแล่นไปถึงกาฬสินธุ์ ต้องเดินทางไปลงที่สถานีรถไฟขอนแก่น แล้วต่อรถประจำทางเข้ากาฬสินธุ์อีก 75 กิโลเมตร
การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟทั้งขบวนรถเร็ว รถด่วน และรถดีเซลรางปรับอากาศ สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.1690 หรือ www.railway.co.th

โดยรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 2) ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ต่อด้วยเส้นทางหลวงหมายเลข 23 และทางหลวงหมายเลข 209 ผ่านมหาสารคาม จนถึงกาฬสินธุ์

โดยรถประจำทาง
มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ www.thairoute.com

โดยเครื่องบิน
ไม่มีเที่ยวบินตรงบินสู่กาฬสินธุ์ แต่นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเครื่องไปลงได้ที่จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วต่อรถโดยสายประจำทางไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร

สอบถามตารางเที่ยวบินได้ที่สายการบินพี บี แอร์ โทร. 0 2261 0220 ต่อ 201-210 สำนักงานร้อยเอ็ด โทร.0 4351 8572 www.pbair.com
การเดินทางภายใน กาฬสินธุ์

ในตัวเมืองกาฬสินธุ์มีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งกาฬสินธุ์ โทร. 0 4351 1298, 0 4381 3451, 0 4381 2191, 0 4381 1070

นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในกรณีที่มีการเหมารถนักท่องเที่ยวควรจะตกลงราคากับรถสองแถวก่อนออกเดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่ง

Area Map

History & Info

พิพิธภัณฑ์สิรินธรตั้งอยู่ที่ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นบริเวณที่พบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์แหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ของพืชและสัตว์ โดยเน้นเรื่องไดโนเสาร์เป็นหลัก โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานราชานุญาตให้ใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2549
การจัดแสดงนิทรรศการแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ นิทรรศการถาวร นิทรรศการชั่วคราว และนิทรรศการกลางแจ้ง
ในส่วนนิทรรศการถาวรซึ่งอยู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ แบ่งหัวข้ออยู่ในพื้นที่ 8 โซน ได้แก่
โซน 1 จักรวาลและโลก
โซน 2 เมื่อสิ่งมีชีวิตแรกปรากฏ
โซน 3 พาลีโอโซอิก : มหายุคแห่งวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณ
โซน 4 แบ่งออกเป็น 2 โซน คือ 4.1 มีโซโซอิก : มหายุคแห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์ และ 4.2 ไดโนเสาร์ไทย
โซน 5 วิถีชีวิตไดโนเสาร์
โซน 6 คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์
โซน 7 ซีโนโซอิก : มหายุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
โซน 8 เรื่องของมนุษย์

Direction Map

Information

รู้จักกาฬสินธุ์
จังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางภาคอีสาน ห่างจากกรุงเทพฯ ราว 519 กม. ภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขา ป่าไม้ และที่ราบ มีเทือกเขาภูพานทอดแนวสลับซับซ้อนทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ปกคลุมด้วยผืนป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ แม่น้ำปาว ห้วยยาง จึงกลายเป็นเขตป่าอนุรักษ์หลายพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติภูพาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน วนอุทยานภูแฝก ฯลฯ

เขตจังหวัดกาฬสินธุ์ปรากฏหลักฐานการตั้งชุมชนของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน ทว่าบรรพบุรุษสายหลักของชาวกาฬสินธุ์ในปัจจุบันก็คือชาวผู้ไทหรือชาวลาวทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งส่วนใหญ่ย้ายเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3

กาฬสินธุ์เคยถูกยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อปี 2456 โดยขึ้นกับมณฑลร้อยเอ็ด และถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับ จ.มหาสารคามเมื่อปี 2474 ก่อนจะยกฐานะเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์อีกครั้งเมื่อปี 2490

แม้จังหวัดกาฬสินธุ์มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ก็มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเช่นอุทยานแห่งชาติภูพาน แหล่งท่องเที่ยวทะเลสาบเขื่อนลำปาว หรือจะเที่ยวชมหมู่บ้านของชาวผู้ไทยซึ่งเป็นแหล่งทอผ้าไหมแพรวาขึ้นชื่อ โดยเฉพาะที่บ้านโพน อ.คำม่วง

นอกจากนั้นจังหวัดกาฬสินธุ์ยังเป็นที่รู้จักมากขึ้น ภายหลังมีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมากที่ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ โดยเป็นฟอสซิลของไดโนเสาร์ซอโรพอด ชนิดกินพืช อายุประมาณ 130 ล้านปี ซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย เป็นที่มาของการก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์สิรินธร ที่จัดแสดงความรู้ด้านโบราณชีววิทยาโดยเน้นเรื่องไดโนเสาร์เป็นหัวข้อหลัก