Trip Planning
ทางรถยนต์
จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้หลายเส้นทางดังนี้
1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทาง หลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี หรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานี ต่อด้วยเส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวง หมายเลข 3111) แล้วแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3. ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานีทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยก สะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347 แล้วไปแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางปะอิน เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทางรถโดยสารประจำทาง กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา
มีรถโดยสารทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รถออกจากสถานีขนส่งchaba.jpg (2880 bytes) สายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (หมอชิต 2) ทุกวันๆละหลายเที่ยว รถธรรมดาและรถปรับอากาศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 936-1972
ทางรถไฟ
สามารถใช้ขบวนรถโดยสารที่มีปลายทางสู่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอภาชี ทางรถไฟจะแยกไปสายเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สถานีชุมทางบ้านภาชี ในแต่ละวันจะมีรถไฟบริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารขึ้นล่องวันละหลายเที่ยว
นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังจัดขบวนรถจักรไอน้ำเดินระหว่างกรุงเทพฯ-สถานีอยุธยา-กรุงเทพฯ ในโอกาสพิเศษ ปีละ 4 ขบวน คือวันที่ 26 มีนาคม (วันสถาปนาการรถไฟและวันที่ระลึกถึงการเปิดทางรถไฟสายแรกที่เดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2433) วันที่ 12 สิงหาคม (วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ) วันที่ 23 ตุลาคม (วันปิยมหาราช เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงให้กำเนิดกิจการรถไฟไทย) และวันที่ 5 ธันวาคม (วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
รายละเอียดสอบถาม หน่วยบริการเดินทางสถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 223-7010, 223-7020
ทางเรือ
ปัจจุบันเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก เพราะนอกจากจะได้ชมทัศนียภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังเป็นการย้อนให้เห็นประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ประเทศไทยมีการค้าขายกับชาวต่างชาติ โดยเรือสำเภาต่างประเทศที่สัญจรในลำน้ำเจ้าพระยาในอดีต
Area Map
History & Info
วัดและวังแห่งกรุงศรีอยุธยา คติความเชื่อ ต้นกำเนิด ศูนย์กลางจักรวาล ฐานอำนาจ แห่งราชธานี
กรุงศรีอยุธยาสถาปนาขึ้นในราวปี พ.ศ. 1893 โดยพระเจ้าอู่ทอง หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 กษัตริย์ปฐมวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยา บนทำเลที่ตั้งซึ่งมีลักษณะเหมือนเกาะ มีแม่น้ำสามสายไหลโอบล้อมตัวเมือง ทำให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นชุมทางคมนาคมที่สำคัญ สามารถติดต่อกับบ้านเมืองอื่นๆ ได้อย่างสะดวก และนั่นจึงเป็นที่มาของการเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อันรุ่งเรือง และกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้
กรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนฐานะมาเป็นราชอาณาจักรอย่างแท้จริงในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ทรงรวมศูนย์อำนาจด้านการเมืองและศาสนาเข้าไว้ด้วยกันภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ
ความเจริญมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยามาจากการค้าขายกับต่างประเทศ ก่อให้เกิดแหล่งผลิตหรือย่านตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าจำนวนมาก และจากการติดต่อกับนานาชาตินี้เองทำให้กรุงศรีอยุธยารับความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการใหม่ๆ มาพัฒนาบ้านเมืองหลายด้าน นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยายังรุ่งเรืองในด้านอักษรศาสตร์ วรรณกรรม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดต่อกันมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
อำนาจของกรุงศรีอยุธยาสิ้นสุดลงเมื่อแพ้สงครามพม่าในปี พ.ศ. 2310 เพราะพม่าเผาทำลายบ้านเมือง วัดวาอาราม และปราสาทราชวัง รวมถึงกวาดต้อนผู้คนและนำทรัพย์สินมีค่ากลับไป นับเป็นทำลายสัญลักษณ์ของกรุงศรีอยุธยาอย่างสิ้นเชิง
วัด : ศูนย์กลางจักรวาลบนโลกมนุษย์
ศาสนาพราหมณ์ฮินดูและศาสนาพุทธทั้งนิกายมหายานและเถรวาทต่างมีคติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาล ดังสะท้อนออกมาเป็นรูปธรรม คือ การสร้างปราสาท เทวสถาน หรือพุทธสถาน ให้เป็นศูนย์กลางของเมือง
ในช่วงที่อาณาจักรขอมรุ่งเรืองมากในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 นั้น พระมหากษัตริย์องค์สำคัญคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธมหายานทั่วทั้งราชอาณาจักร ซึ่งความนิยมสร้างศาสนสถานเพื่อให้เป็นหลักหรือศูนย์กลางเมืองเช่นนี้ได้แพร่เข้าสู่ในภาคกลางและภาคใต้ของไทยด้วย ดังพบว่ามีการสร้างปราสาทศิลาแลงที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสถาปัตยกรรมขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หลายแห่ง ใน จ. ลพบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สุโขทัย เป็นต้น กรณีนี้มีนักวิชาการบางท่านได้วิเคราะห์ให้เห็นว่าความนิยมในการสร้างศาสนสถานในคติความเชื่อดังกล่าวเป็นการแสดงความต้องการของผู้สร้างคือกษัตริย์หรือเจ้านายของท้องถิ่นเพื่อประกาศตนเองว่าเจริญรุ่งเรืองเหมือนกับอาณาจักรขอมมากกว่า
เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นที่ได้นำธรรมเนียมการสร้างปราสาทกลางเมืองมาใช้ แต่เปลี่ยนมาเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุแทน เช่นที่วัดมหาธาตุ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านกล่าวว่า นอกจากสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุแล้ว ยังมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย คือ เป็นการประกาศให้ผู้คนตามเมืองต่างๆ ยอมรับความสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ในฐานะศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ แทนอาณาจักรขอมที่ล่มสลายไปแล้ว
ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ความแพร่หลายของศาสนาพุทธมหายานก็เสื่อมความนิยมลง เมื่อผู้คนส่วนใหญ่หันมานับถือพุทธศาสนาเถรวาทแทน ซึ่งรวมถึงบรรดาบ้านเมืองต่างๆ ในพม่า มอญ ลาว กัมพูชา เนื่องจากในช่วงเวลานี้แหล่งที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญได้เปลี่ยนมาเป็นที่ลังกา และได้รับความนิยมมากขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 บ้านเมืองหลายแห่งได้ส่งพระภิกษุออกไปศึกษาพระธรรมวินัยและนำกลับมาเผยแผ่ยังดินแดนของตน
อ. ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวถึงเรื่องนี้ในหนังสือ ความหมายพระบรมธาตุในอารยธรรมสยามประเทศ ว่า แก่นแท้ที่สำคัญของการนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีแต่สมัยทวารวดี และดำรงอยู่ต่อเนื่องและเติบโตก็คือการกราบไหว้บูชาพระบรมธาตุนั่นเอง และในระยะแรกที่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ โดยบรรดาภิกษุสงฆ์ นักบวช และนักพรตนั้น เกิดจากการไปเทศนาสั่งสอนผู้คนก่อน ต่อเมื่อมีผู้นิยมมากขึ้นก็เกิดการสร้างวัดหรือศาสนสถานเพื่อการประกอบพิธีกรรมและการสอนศาสนาขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อชุมชนหมู่บ้านขยายตัวเป็นบ้านเป็นเมือง ก็จำเป็นที่ต้องมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่กราบไหว้บูชาและประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาในท้องถิ่น แต่บรรดาพระสงฆ์หรือนักบวชไม่มีอำนาจหรือทรัพย์สินที่จะทำให้มีการก่อสร้างวัดวาอารามให้เป็นศูนย์กลางของเมืองได้ นอกจากแสวงหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือรูปเคารพมาให้ผู้คนในท้องถิ่นได้สักการะร่วมกัน ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาเถรวาทที่รับรู้กันมาแต่เดิมก็คือพระบรมธาตุนั่นเอง
ความนิยมในการสร้างศาสนสถานที่เป็นศูนย์กลางหรือหลักของบ้านเมือง ได้เปลี่ยนมาเป็นการสร้างวัดและพระมหาธาตุเจดีย์กันแทบทั้งสิ้น ทำให้เกิดรูปแบบของพระสถูปเจดีย์ในลักษณะแตกต่างกันไปทั้งระหว่างภูมิภาคและท้องถิ่น เช่น ในภาคกลางมีการสร้างพระสถูปทรงปรางค์เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าดัดแปลงรูปแบบมาจากปราสาทขอม ดังพบที่วัดมหาธาตุ วัดราชบูระ วัดพระราม นั่นเอง
วัง : ศูนย์รวมอำนาจแห่งองค์พระมหากษัตริย์
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นระบบระเบียบอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ทรงขยายบริเวณพระบรมมหาราชวังให้กว้างขวางกว่าแต่เดิม สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ทางด้านเหนือใกล้กับแม่น้ำลพบุรี โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ พระราชฐานชั้นใน อันเป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์และเจ้านายฝ่ายใน พระราชฐานชั้นกลาง เป็นสถานที่ออกว่าราชการและประกอบพระราชพิธี และพระราชฐานชั้นนอก เป็นสถานที่ทำการของขุนนาง ข้าราชการฝ่ายหน้า รวมถึงบริเวณซึ่งเป็นพระราชวังเดิมที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอุทิศพื้นที่สร้างวัดพระศรีสรรเพชญขึ้นให้เป็นวัดในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งไม่เคยปรากฏธรรมเนียมเช่นนี้มาก่อน
การสร้างวัดพระศรีสรรเพชญขึ้นนั้นก็เพื่อให้เป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาของราชอาณาจักร รวมถึงบรรดาพระราชพิธีของราชสำนักและประเพณีที่เกี่ยวกับการเป็นพระจักรพรรดิราชที่มีการฟื้นฟูขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง ถือเป็นการย้ายศูนย์รวมจิตใจของราษฎร จากเดิมคือที่วัดมหาธาตุมาเป็นพระอารามหลวงแห่งนี้ และยังแสดงถึงพระราชอำนาจและบุญญาบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งในฐานะพระจักรพรรดิราชและองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ซึ่งคติการสร้างวัดคู่วังเช่นนี้ได้สืบทอดมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์อีกด้วย
Direction Map
Information
ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา
417 ปีแห่งการเป็นราชธานีเก่าแก่ของสยามประเทศ ประกอบด้วย 5 ราชวงศ์คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 33 พระองค์ โดยมีปฐมกษัตริย์คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระนครศรีอยุธยาจึงนับเป็นราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ตลอดระยะเวลา 417 ปีที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้เป็นเพียงช่วงแห่งความเจริญสูงสุดของชนชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์อารยธรรมของหมู่มวลมนุษยชาติซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศอีกด้วย แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายเสียหายจากสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านหรือจากการบุกรุกขุดค้นของพวกเรากันเอง แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ยังมีร่องรอยหลักฐานซึ่งแสดงอัจฉริยภาพและความสามารถอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษแห่งราชอาณาจักรผู้อุทิศตนสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม และความมั่งคั่งไว้ให้แก่ผืนแผ่นดินไทย หรือแม้แต่ชาวโลกทั้งมวล จึงเป็นที่น่ายินดีว่าองค์การ ยูเนสโก้ โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติรับนครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 ไว้ในบัญชีมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ณ กรุงคาร์เธจประเทศตูนีเซียพร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย/อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย/อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรโดยจะมีผลให้ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาที่ประเทศต่างๆได้ทำร่วมกัน จึงสมควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ไปศึกษาเยี่ยมชมเมืองหลวงเก่าของเราแห่งนี้สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นโบราณสถาน ได้แก่ วัด และพระราชวังต่างๆ พระราชวังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอยู่ 3 แห่ง คือ พระราชวังหลวง วังจันทรเกษมหรือวังหน้า และวังหลัง นอกจากนี้ยังมีวังและตำหนักนอกอำเภอพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส ได้แก่ พระราชวังบางปะอิน ในเขตอำเภอบางปะอิน และตำหนักนครหลวง ในเขตอำเภอนครหลวง
ภูมิประเทศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ แม่น้ำป่าสักไหลผ่านทางทิศตะวันออก และแม่น้ำลพบุรี(ปัจจุบันเป็นคลองเมือง)ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือแม่น้ำสามสายนี้ไหลมาบรรจบกันโอบล้อมรอบพื้นที่ของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ตัวเมืองจึงมีลักษณะเป็นเกาะ เราจะเห็นบ้านเรือนปลูกเรียงรายหนาแน่นตามสองข้างฝั่งแม่น้ำแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำมายาวนานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 76 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,556 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอนครหลวง อำเภอภาชี อำเภอบ้านแพรก อำเภอบางซ้าย อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอบางบาล อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน อำเภอเสนา อำเภออุทัย อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอท่าเรือ และอำเภอวังน้อยอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดลพบุรี อ่างทอง และสระบุรีทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรีทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสระบุรีทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี